UOBAM มองเคส AT1 เครดิตสวิสหนุนตราสารหนี้ระยะสั้นคุณภาพสูง-แบงก์เอเชียความเสี่ยงจำกัด

บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) (UOBAM) มองว่า การปรับมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ของ Credit Suisse ลงเป็นศูนย์ จะกระทบต่อตลาด AT1 ของเอเชีย แต่ธนาคารในภูมิภาคเอเชียยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง คาดเงินลงทุนจะไหลกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง อย่างตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีคุณภาพสูง ขณะที่อุตสาหกรรมเงินฝากอาจเผชิญกับความผันผวน แต่คงไม่ส่งผลให้มีธนาคารใดล้ม

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดผลกระทบต่อกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้ยังไม่มากนัก แนะนำเพิ่มเงินลงทุนบางส่วนในกองทุนตราสารหนี้

บลจ.ยูโอบี ระบุว่า จากวิกฤติของธนาคาร Credit Suisse และการเข้าซื้อกิจการโดย UBS นั้น ก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือตราสาร AT1 (Additional Tier 1) โดยตราสาร AT1 เป็นตราสารหนี้ที่มีลำดับการรับชำระหนี้ขั้นต่ำสุดของตราสารหนี้ แต่ลำดับก่อนตราสารทุน ตราสารประเภทนี้จะมีเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นทุนได้ ในลักษณะของหุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข หรือ Contingent Convertible Bonds หรือ CoCos โดยทางเทคนิคแล้ว ในกรณีที่บริษัทล้มละลายผู้ถือตราสาร AT1 จะมีสิทธิ์สูงกว่าผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ที่ UBS เข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse ผู้ถือหุ้นจะได้เงินลงทุนคืนในบางส่วน ในขณะที่ผู้ถือตราสาร AT1 จะสูญเงินลงทุนไปทั้งหมดและไม่ได้รับเงินชดเชย

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ถือครองตราสาร AT1 ตื่นตระหนกจากความกังวลว่าอาจจะมีธนาคารอื่นๆ เผชิญกับการล้มละลายกันตามมา แม้กระทั่งตลาดตราสารหนี้เอเชียต่างปรับตัวลงแรง

ตราสารของภาคธนาคารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือตราสารของธนาคารที่มีค่า Beta สูง เช่น HSBC และ Bank of East Asia ธนาคารไทย เช่น KBank ขณะที่ธนาคารจีนนั้นมีค่า Beta ต่ำเพราะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงปรับลดลงน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

ตลาดตราสาร AT1 ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ นั้นประมาณกันว่ามีมูลค่าถึง 275 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และถือว่ามีสภาพคล่องสูง ตราสารเหล่านี้มักออกโดยผู้ออกในยุโรปที่มีความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ขนาดธุรกรรมโดยเฉลี่ยแต่ละธุรกรรมอยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

หากเปรียบเทียบแล้ว ตลาด AT1 ในสกุลเงินท้องถิ่นของเอเชียนั้น มีขนาดใหญ่กว่าที่ 569.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเกือบร้อยละ 80 เป็นตราสารในสกุลเงิน CNY และญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่นิยมออกตราสาร AT1 แต่ในทางตรงกันข้าม ตราสาร AT1 ที่ออกโดยบริษัทในฮ่องกงและจีนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่าเพียง 42 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในอนาคต คาดการณ์ว่าราคาของตราสาร AT1 จะยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องและมีความผันผวน เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตัวตราสาร AT1 มีลดลง แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการโดย UBS จะสามารถทำให้ลดความตระหนกของนักลงทุนในตลาดเอเชียลง และช่วยไม่ให้ตลาดปรับตัวลงลึก แต่ความผันผวนของภาคธนาคารจะยังคงอยู่ต่อไป

มีความเป็นไปได้ว่า หากการล้มของภาคธนาคารลุกลามมายังในเอเชีย การ Write down มูลค่าของตราสาร AT1 จะกระทบต่อบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นเพียง 2 เขตปกครองพิเศษที่มีกรอบเงื่อนไขสัญญา PNOV หรือ Point of Non-Viability Trigger Framework ขณะที่ประเทศอื่นมีแต่กรอบสัญญา (Contractual Framework)

ในด้านกรอบกฎระเบียบแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ Non-Viability Event หรือเมื่อกิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ผู้ถือหุ้นของธนาคารจะเสียสิทธิ์ก่อน หลังจากนั้น ผู้ถือตราสารประเภทอื่นๆ ในโครงสร้างเงินทุนจะถูกลดมูลค่าลงตามลำดับขั้นหรือถูกแปลงเป็นทุน อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับธนาคาร Banco Popular ของสเปนเมื่อปี 2560 แต่ตามกรอบเงื่อนไขของสัญญาแล้ว หากผู้ออกตราสาร AT1/Tier 2 ถูกปรับลดมูลค่า หรือแปลงเป็นทุนเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้หรือ Breach of a Trigger หรือ PONV ขึ้น ผู้ออกตราสารจะไม่เสียสิทธิ์ ตราบใดที่ผู้ออกตราสารยังมีทรัพย์สินคงเหลืออยู่

ธนาคารในภูมิภาคเอเชียยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

ในด้านปัจจัยพื้นฐานนั้น ธนาคารในเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารของสิงคโปร์นับว่ามีเงินทุนที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องสูง และมีการจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมี Business Model ที่ Conservative และยังมีการสนับสนุนที่ดีจากธนาคารกลางที่สนับสนุนสถาบันการเงินอย่างดี

แม้ว่ามีโอกาสที่เหตุการณ์จะลุกลามมายังภูมิภาคเอเชีย แต่ความเสี่ยงนี้ได้ถูกจำกัด ตัวอย่างเช่น เราคาดว่าจะมีกระแสการไหลเวียนของเงินฝากเพิ่มขึ้นทั่วตลาดเอเชีย แม้ว่าจะเป็นเพราะความแตกต่างของผลตอบแทนระหว่างธนาคาร มากกว่าจะมาจากการล้มของธนาคาร

ยังเป็นไปได้ว่าจะมีการไหลเวียนของเงินทุนไปยังตราสารที่มีคุณภาพ โดยเงินทุนจะไหลจากตราสาร AT1 ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าไปยังตราสารที่มีคุณภาพสูงกว่าและอายุระยะที่สั้นลง ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น รัฐบาลสิงคโปร์

ส่วนในจีนนั้น สถานการณ์อาจแตกต่างจากประเทศอื่น ธนาคารในจีนกำลังเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาลง เป็นผลให้ความผันผวนของเงินฝากมีค่อนข้างน้อย โดยธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลดูมีความน่าสนใจ เพราะมีการสนับสนุนจากรัฐบาลเต็มร้อย ทั้งยังมี Beta หรือความสัมพันธ์กับตลาดที่ต่ำ และพึ่งพาเงินทุนสกุลเหรียญสหรัฐฯ ในระดับที่ต่ำในระยะสั้น

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% กระทบกองทุนตลาดเงินไม่มากนัก

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ในวันนี้ (29 มีนาคม 2566) ซึ่งเป็นไปตามที่ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ กนง. ยืนยันที่จะดำเนินการให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในระดับปกติอย่างช้าๆ (Gradual Policy Normalization remains appropriate) สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า กนง.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และคงระดับ 2.00% ไปถึงสิ้นปี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ในขณะที่เงินเฟ้อปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1% – 3% โดย กนง. คาดว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% และจะลดลงไปที่ระดับ 2.4% ในปี 2567 นอกจากนี้ กนง. ระบุพร้อมปรับขนาด-เงื่อนไขขึ้นดอกเบี้ยหากแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากคาด หลังผลประชุมกนง.ออกนั้น Bond yield ในตลาดรองตราสารหนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดคาด

ผลกระทบต่อ กองทุนรวมตลาดเงิน คาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก (ผลตอบแทนกองทุนยังไม่เปลี่ยนแปลง) เนื่องจากเป็นไปตามตลาดคาด ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดเงินมีค่อนข้างสูงทั้งจากปัจจัยภายในและเงินเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อตราสารภาครัฐระยะสั้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ครบ เดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.05%+/- ครบเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1.3%+/- ต่ำกว่า ดอกเบี้ยนโยบายอยู่มาก ไม่สะท้อนดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี หากเงินเก็งกำไรหมดไป ผลตอบแทนตราสารน่าจะปรับตัวสูงขึ้นตาม และทำให้ผลตอบแทนกองทุนปรับตัวสูงขึ้นคาดว่า จะประมาณอีก 1 เดือน

ส่วนผลกระทบต่อ กองทุนรวมตราสารหนี้ คาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก ผลตอบแทนตราสารหนี้น่าจะผันผวนในกรอบ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายใกล้จุดสูงสุดแล้ว บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) แนะนำ เพิ่มเงินลงทุนบางส่วนในกองทุนตราสารหนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top