เงินบาทปิด 33.86 แข็งค่าต่อเนื่อง หลังตัวเลขศก.สหรัฐกดดอลลาร์อ่อนค่า-ทองพุ่ง

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.86 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.95 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเย็นนี้ปรับตัวแข็งค่าต่อจากช่วงเช้า และยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง หลังจากที่เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก จากผลของตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ประกอบกับราคาทองคำพุ่งขึ้นแรง

โดยช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ ตลาดรอติดตามตัวเลขที่เกี่ยวกับการจ้างงานของสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงานภาคเอกชน, การจ้างงานนอกภาคเกษตร และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นักบริหารเงิน คาดว่า วันศุกร์เงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.80 – 34.10 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 131.62 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 131.57 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0951 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0957 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,571.13 จุด ลดลง 22.92 จุด (-1.44%) มูลค่าการซื้อขาย 48,874 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,148.64 ลบ.(SET+MAI)
  • อัตราเงินเฟ้อมี.ค.เพิ่มขึ้น 2.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่ ม.ค.65 โดยมีผลมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และ สินค้าในกลุ่มอาหารส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.88%
  • กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1.7-2.7% จากเดิม 2-3% แนวโน้มเงินเฟ้อตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานราคาปี 65 ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทย มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%
  • กกร. เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอให้ทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 66 เพื่อลดภาระของประชาชน ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบค่า Ft งวดดังกล่าวที่ 98.27 สตางค์/หน่วย ในอัตราเดียวทั้งบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 4.77 บาท/หน่วย
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่ำกว่ากำลังการผลิตสูงสุดเป็นไตรมาสที่ 11 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ในการยุติอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษนั้น ยังคงไม่เข้าที่เข้าทาง
  • ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.25% จากเดิมที่ระดับ 4.75% โดย RBNZ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยก็ตาม
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคืนวันพุธ จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. จาก ADP ส่วนคืนวันพฤหัสบดี จะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และคืนวันศุกร์ จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top