เงินบาทเปิด 34.14 อ่อนค่าตามภูมิภาค กังวลศก.โลกถดถอย-จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.14 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิด ตลาดเมื่อเย็นวันพุธที่ระดับ 33.86 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และ ยอดผู้ขอรับสวัสดืการว่างงานประจำสัปดาห์ ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้ตลาดกังวลว่าจะเป็นสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยตลาดรอดู ตัวเลขสำคัญคืนนี้คือ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร

ขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างประเทศช่วงนี้ เป็นทิศทางการไหลออก หลังยอดส่งออกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

“บาทอ่อนค่าจากเมื่อเย็นวันพุธ เนื่องจากช่วงที่หยุดไปมีตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้ตลาดกังวลว่าจะ ส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจโลกถดถอย” นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.00 – 34.30 บาท/ดอลลาร์ THAI BAHT FIX 3M (5 เม.ย.) อยู่ที่ระดับ 1.70089% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.87815%

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 131.72 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันพุธที่ระดับ 131.62 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0914 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันพุธที่ระดับ 1.0951 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท. อยู่ที่ระดับ 33.932 บาท/ดอลลาร์

– ttb analytics ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องอีก 25.4% จากปีก่อน ที่โตทะยานสูงกว่า 182.2% ขยับมาแตะที่ 254.4 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจุดสูงสุดของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในปี 2562 จำนวน 229.7 ล้านคน/ครั้ง สะท้อนความสำเร็จในการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ ผ่าน นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่ช่วยยกระดับเมืองที่ยังไม่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจเพียงพอให้มีการ สร้างและพัฒนาแหล่ง ท่องเที่ยวให้มีความดึงดูดน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงโปรเจกท์ Unseen New Series ที่พัฒนาคู่ขนาน ต่อยอดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลักหรือเมืองรองให้เป็นที่รู้จักเพิ่ม มากขึ้น

– เอกชน-รัฐ ปลดแอกโควิด เดินหน้าเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ระดมทัพบิ๊กอีเวนต์สร้างสีสัน “สงกรานต์” กระหึ่มรอบ 3 ปี กระตุ้น บรรยากาศคึกคักกระจายทั่วทุกภาค ชูจุดขายหลากหลาย ทั้งประเพณีวัฒนธรรมผนวกเทศกาลดนตรี กิจกรรมเล่นน้ำคลายร้อน ดึงงาน- ศิลปิน ระดับโลกร่วมสร้างสีสัน โหมโรงสู่เฟสติวัล ระดับโลกดึงทัวริสต์มาเยือน

– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (GDP) ของโลกได้รับความเสียหายในอัตราส่วนสูงถึง 2% ในระยะยาว

– กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะโตไม่ถึง 3% ในปี 2566 ชะลอ ตัวลงจากที่โต 3.4% เมื่อปีที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจจะโตทรงตัวที่ 3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเป็นตัวเลขคาดการณ์การเติบโต ระยะกลางที่น้อยที่สุดเท่าที่ IMF เคยประเมินมาตั้งแต่ปี 2533 ทั้งยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 3.8%

– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทาง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

– นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานที่อ่อนแอลง โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 228,000 รายใน สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐกำลังชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเชิงรุกหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

– นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่นัก วิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 238,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือนก. พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.6% ในเดือนมี.ค.

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top