รัฐบาลเกาะติดเหตุไม่สงบในซูดาน พร้อมอพยพคนไทย-นักศึกษากลับปท.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรึ เปิดเผยว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานอย่างใกล้ชิด พร้อมดูแลคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาในประเทศซูดาน โดยวันที่ 22 เมษายน 2566 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศซูดานอย่างเต็มที่

สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดาน น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศ ได้รายงานว่าสถานการณ์ที่ประเทศซูดาน ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากการปะทะกันยังกระจัดกระจายและยังมีความเสี่ยง ทั้งการอยู่ภายในที่พักอาศัยและการออกมาภายนอก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเส้นทางการอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัย ณ สนามบินประเทศเพื่อนบ้านซูดาน เช่น ไคโร ซาอุ และฐานทัพสหรัฐที่ Djibouti โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งพันธมิตรประเทศที่มีความพร้อมในการอพยพด้วย

นอกจากนี้ กองทัพอากาศ (ทอ.) ได้เตรียมความพร้อมของอากาศยาน โดยการจัดเตรียมเครื่องบินไว้แล้ว และรอการพิจารณาเส้นทางที่แน่ชัดจากทางภาครัฐ ซึ่งจะร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ในการสนับสนุนการอพยพคนไทย การรับรองดูแลคนไทยเมื่อกลับถึงประเทศไทย โดยเฉพาะนักเรียนไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหารถโดยสาร รวมถึงการดูแลนักเรียนไทยให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิจการศึกษามายังสถานศึกษาในไทย การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งในส่วนของเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ซูดาน ผู้ปกครอง และสังคมไทยโดยรวม

น.ส.รัชดา กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการของ ศอ.บต. ว่า ขณะนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางไว้ในระดับพื้นที่ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะเน้นการสื่อสารกับกลุ่มครอบครัวเยาวชนที่ไปเรียนในซูดาน ซึ่งมีจำนวน 91 คน รวมไปถึงให้บริการสายด่วน 1880 รองรับประเด็นดังกล่าวด้วย และมีผู้ปกครองติดต่อมาแล้ว ขณะเดียวกัน ศอ.บต. จะทำการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับนักศึกษาไทยกลับภูมิลำเนา พร้อมจัดหาที่พักเมื่อกลับถึงประเทศไทย ควบคู่กับการดูแลเรื่องการศึกษาของนักศึกษาที่ประสงค์จะไม่กลับไปศึกษาต่อ เช่น การเทียบวุฒิการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ เลขาธิการ สมช. ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยมีการวางแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการวางแผนการดำเนินงานตามภารกิจในครั้งนี้ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการอพยพนักศึกษาไทยในเส้นทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางอากาศ พร้อมจัดทำแผนรองรับผู้ที่หลบหนีแบบผิดกฏหมาย ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยให้ทุกคนได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top