คลัง หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือโต 3.6% จาก 3.8% คาดส่งออกพลิกหดตัว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของไทยปีนี้เหลือโต 3.6% จากเดิมคาด 3.8% รับผลภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว 0.5% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจและการค้าโลก จากก่อนหน้าคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้เล็กน้อย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ในช่วงคาดการณ์ 3.1-4.1% ลดลงจากที่คาดก่อนหน้านี้ที่ 3.8% แต่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ 2.6% ต่อปี ขณะที่คาดกว่าการส่งออกในปี 2566 จะอยู่ที่ -0.5% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 0.4% ตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ 2.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ -2.6 ถึง -1.6%) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 2.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.1 ถึง 3.1%) ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6%) ตามรายได้ภาคประชาชนที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ 2.3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.8-2.8%) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.1-3.1%) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.0-3.0% เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงาน และราคาน้ำมันคลี่คลายลง

นายพรชัย กล่าวว่า ได้มีการศึกษาพบว่าเงินเฟ้อในส่วนของค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา มีสัดส่วนเพียง 5.5% ของตระกร้าเงินเฟ้อทั้งหมด โดยต้องยอมรับว่าในความรู้สึกของประชาชนมองว่าค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องไปดูภาพรวมการใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย แต่ในเรื่องนี้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีแนวทางในการดูแลเรื่องนี้อยู่ ขณะที่ภาพใหญ่ของตระกร้าเงินเฟ้อคือราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาพลังงานมีการปรับตัวลดลง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาพรวมอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 มีแนวโน้มลดลงเหลือ 2.6%

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

  1. ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัว 164.6% ต่อปี และคาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 255.9% ต่อปี
  2. สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top