นักวิชาการห่วงภาคอุตฯขาดแรงงานทักษะสูงหลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แนะรบ.ใหม่เร่งวางแผน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามูลค่าส่งออกขยายตัวติดลบลดลงในเดือนมีนาคมโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดี ดุลการค้าเริ่มกลับมาเกินดุลจากการหดตัวของการนำเข้ามากกว่าคาดการณ์ อุปสงค์ในตลาดโลกต่อชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการชะลอตัวลงชัดเจนอาจส่งผลต่อภาคส่งออกโดยรวมของไทยเนื่องจากสัดส่วนมูลค่าสินค้ากลุ่มนี้สูงถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

นายอนุสรณ์ กล่าวว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการผลิตใช้แรงงานทักษะสูง ขณะที่ขนาดของตลาดภายในแทบไม่มีการเติบโตจากอัตราการเกิดที่ต่ำมากและสังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย บางภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจไทยจึงต้องอาศัยแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่ควรมียุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรและแรงงานอพยพ

ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยให้เหมาะสมไม่ควรปล่อยให้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรโดยไม่มีการจัดระเบียบ การจัดระเบียบนี้ต้องพิจารณามิติทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความมั่นคงให้ชัดเจน การเปิดเสรีให้ชาวต่างชาติและนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรกหดตัวแรง คาดว่า แนวโน้มยังคงเป็นขาลงจากแรงกดดันอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและหมดมาตรการผ่อนปรน LTV ต้นทุนวัสดุก่อสร้างพุ่งสูงจากราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงก่อนหน้านี้ ด้านมูลค่าโครงการเปิดใหม่ลดลงในไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับไตรมาสสี่ปีที่แล้ว -40% เป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมากและมีการพุ่งขึ้นของโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ก่อนมาตรการผ่อนปรน LTV หมดอายุ

ประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือของประชาชนดีขึ้นมากขึ้นได้ ซึ่งในทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็น Immiserizing Growth เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อการขยายตัวทางการค้า ทำให้อัตราการค้าแย่ลง และอัตราการค้าที่แย่ลงนี้แย่ลงมากกว่าผลบวกจากการค้าที่นำมาสู่ความมั่งคั่ง ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมลดลง ประเทศต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง

ขณะที่ต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงอย่างมากเพื่อให้ขายได้ระบบเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก

ดังนั้นอัตราการค้าที่ตกต่ำจึงมีผลให้สวัสดิการของประเทศลดตามไปด้วยการขยายตัวของการค้าภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าของไทยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากการค้าไม่กระจายตัวมายังคนส่วนใหญ่ 80% ของประเทศ ผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่มีรายได้สูงสุด 20% จึงทำให้คนกลุ่มนี้ถือครองรายได้เกินกว่า 60% ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เศรษฐศาสตร์เสรีนิยมเชื่อว่า การค้าเสรีและความชำนาญเฉพาะด้านของการผลิต (Specialization) แต่ละประเทศจะสามารถเพิ่มสวัสดิการของประเทศตนได้ในระยะยาว การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอย่างเสรีจะเป็นผลให้เกิดความเท่าเทียมด้านผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตโดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ประเทศติดกับดักรายได้ระดับปานกลางมายาวนาน เพราะมีอำนาจเชิงสถาบันที่ไม่เท่าเทียม ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกกันออกจากผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษ 2520 2530 และ 2540 เรายังคงใช้ นโยบายค่าแรงถูกดึงดูดการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องจึงไม่มีการลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีเท่าที่ควร แรงงานราคาถูกจึงไม่ส่งผลกระตุ้นต่อการลงทุน

อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอันเป็นจากโครงสร้างประชากรและการขาดแคลนแรงงาน แต่เรายังอาศัยอุปทานแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านช่วยบรรเทาได้

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ในปี พ.ศ. 2566 เมื่อได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว คาดว่า ไทยคงจะสามารถเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆได้อย่างรอบคอบ อย่างมีกลยุทธและรัดกุมยิ่งขึ้น การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไปเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันเชิงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นของจีนและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลใหม่ควรวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของไทย ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมมากขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top