เงินบาทเปิด 33.75 แข็งค่าสวนทางภูมิภาค รับเม็ดเงินไหลเข้าหนุน เกาะติดเงินเฟ้อสหรัฐ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.84 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อจากเมื่อวาน และในช่วงเปิดตลาดเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ดีเงินบาทแข็งค่าสวนทางสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยเช้านี้มี flow จากต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรของไทย ซึ่งวันนี้ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

ขณะเดียวกัน ตลาดรอดูตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของสหรัฐ รวมทั้งยังจับตาปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70 – 34.00 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (8 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.79856% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.86625%

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 135.11 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นที่ระดับ 135.03/04 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0987 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นที่ระดับ 1.1038/1039 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.934 บาท/ดอลลาร์
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (8 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานด้านเสถียรภาพการเงินรอบครึ่งปีในวันจันทร์ (8 พ.ค.) โดยระบุว่า ในภาพรวมนั้น ภาคธนาคารของสหรัฐยังคงอยู่ในสถานะที่ดี และสามารถต้านทานภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้
  • รายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า ความวิตกของธนาคารต่าง ๆ เกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อาจทำให้ธนาคารต่าง ๆ ปล่อยเงินกู้น้อยลง ซึ่งจะยิ่งเร่งให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงนั้น จะถูกเพ่งเล็งมากขึ้นจากผู้ควบคุมกฎระเบียบภาคธนาคาร
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันพุธนี้
  • ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะปรับตัวขึ้น 5.0% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนมี.ค.
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top