ETC จ่อเซ็น PPA โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 99 MW ดันกำลังผลิตในมือโต 500%

นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เปิดเผยว่าบริษัทผ่านการคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ.2565 อย่างเป็นทางการ

โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ จำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 80 เมกะวัตต์ ในอัตรา FiT 6.08 บาท/หน่วย และให้ FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก 0.70 บาทต่อหน่วยสำหรับโครงการขยะอุตสาหกรรม 8 ปีแรก เป็นระยะเวลา 20 ปี การผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้จะทำให้ ETC เพิ่มปริมาณการขายไฟฟ้าขึ้นเป็น 96.5 เมกะวัตต์ โตเกือบ 500% จากปัจจุบัน ETC มีโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 3 โครงการ และมีสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 16.5 เมกะวัตต์

ผลจากการได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้จะทำให้ ETC ยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนในอัตราสูง เนื่องจากมีอัตราการขายไฟที่สูงและยังมี FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก เป็นอัตราการขายไฟฟ้าที่สูงที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ ETC มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) บริษัทจึงขยายวงเงินออกหุ้นกู้จากเดิมมูลค่าไม่เกิน 2,500 ล้านบาท เป็นวงเงินรวมไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง

บริษัทจะออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2566 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2569 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยราว 5.50% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวนเสนอขายไม่เกิน 800,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 800 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม 200,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท รวมจำนวนเสนอขายทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ผ่าน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.เอเซีย พลัส บล.ธนชาต และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระยะเวลาการเสนอขายวันที่ 16-18 พ.ค.66

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 มีรายได้รวม 181.979 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 190.525 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.508 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 48.216 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่ถึงระยะเวลาซ่อมบำรุง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนในโครงการที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกอีก 10 โครงการ จึงทำให้มีค่าที่ปรึกษากฎหมาย และค่าที่ปรึกษาทางการเงิน และดอกเบี้ยหุ้นกู้เกิดขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top