PoliticalView: เลือกตั้ง’66: สูตรรัฐบาล “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ไม่ง่าย!!!

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะคว้าชัยแบบเหนือความคาดหมาย แต่นักวิชาการการเมืองมองว่าเส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้นไม่ง่าย เพราะยังมีอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก โดยเฉพาะการร่วมรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทยยังต้องขึ้นกับการต่อรองเงื่อนไข รวมไปถึงความพยายามของขั้วอนุรักษ์นิยมที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

ล่าสุดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศชัยชนะผลการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ด้วยเสียง ส.ส. 151 เสียง และพร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยได้ติดต่อแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ทั้งเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ร่วมกับพรรคก้าวไกล รวม 308 เสียง และอยู่ระหว่างติดต่อพรรคเป็นธรรม รวมเป็นรัฐบาล 309 เสียง ปิดประตูการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า แม้ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสูตรคณิตศาสตร์ในการจัดตั้งรัฐบาลเบื้องต้นจะเป็นการจับขั้วของพรรคฝ่ายเสรีนิยมที่เคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในอดีต เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และมีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ก็ยังมีอีกหลายตัวแปร

“แนวทางนี้น่าจะเป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชนที่ให้การสนับสนุน แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังมีรายละเอียดอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา” นายโอฬาร กล่าว

โดยเฉพาะหากมีความพยายามของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการสู้กลับ ก็อาจมีการต่อรองจับขั้วทางการเมืองใหม่เพื่อแข่งตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องรอดูท่าทีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการจับขั้วกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยมีกลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมืองหลายราย จึงอาจยังไม่พร้อมกับการทำงานการเมืองรูปแบบใหม่ ทำให้มีการมองความเป็นไปได้ที่จะหนีไปเป็นแกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง แต่กรณีนี้ก็ต้องแลกกับอนาคตทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในระยะยาว

“ถ้าพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยมีคะแนนเท่ากันคงตกลงกันไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่พรรคก้าวไกลขอให้มีการเซ็นเอ็มโอยูก่อน พรรคเพื่อไทยอาจไปรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาลง่ายกว่าทำงานกับพรรคก้าวไกล” นายโอฬาร กล่าว

นายโอฬาร กล่าวว่า อีกทั้งเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายพิธา ยังมีอุปสรรคอีกหลายเรื่อง เช่น ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ, ในช่วง 60 วันที่ กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้งก็มีโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคจะได้รับใบเหลือง-ใบแดง, การยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายที่มีความสุ่มเสี่ยง ได้แก่ การแก้ไขมาตรา 112 หรือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ด้านนายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลจับมือกับอดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลแล้วยังมีเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่เพียงพอ อาจมีการเจรจาดึงพรรคการเมืองอื่นเพิ่มเติม เช่น ภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ที่ยอมรับเงื่อนไขกันได้

กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า พรรคเพื่อไทยอาจแย่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายของตัวเองนั้นก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะจะถูกมองเรื่องความไม่ชอบธรรม และเป็นการตัดอนาคตทางการเมืองหาฐานเสียงที่เลือกเข้ามา สถานะจะหลุดออกจากขั้วประชาธิปไตยไปเป็นขั้วการเมืองเก่า และจะต้องพิสูจน์ฝีมือให้มีผลงาน ไม่เช่นนั้นกระแสก็จะตกต่ำลงไป

“ผลเลือกตั้งที่ออกมา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นแล้วว่าคนเลือกที่จะเสี่ยงกับนโยบายของก้าวไกลดีกว่าสนับสนุนพรรคการเมืองเดิม ถ้าเพื่อไทยอยากเป็นแกนนำเพื่อผลักดันนโยบายของตัวเองก็จะเป็นการประกาศจุดยืนไปเป็นขั้วการเมืองเก่า ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนเดิม” นายสติธร กล่าว

เรื่องนี้จึงต้องติดตามท่าทีของเพื่อไทยว่าจะยอมรับเงื่อนไขที่จะเซ็นเอ็มโอยูกับก้าวไกลหรือไม่

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มั่นใจการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำน่าจะเป็นไปได้ด้วยดีตามขั้นตอน ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อทาบทามพรรคการเมืองที่เคยร่วมทำงานเป็นฝ่ายค้านให้มาร่วมเป็นรัฐบาลแล้ว ไม่อยากคิดว่าจะมีเรื่องใดที่เข้ามาเป็นอุปสรรคขัดขวางตามที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น อาจถูกลงโทษคดีถือหุ้นสื่อ

“ผมเชื่อตามที่หัวหน้าพรรคได้ออกมาแถลง ไม่คิดว่าจะเป็นไปตามที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น” นายสุขุม กล่าว

ขณะที่โลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์สูตรจับขั้วตั้งรัฐบาล “อินโฟเควสท์” ได้สำรวจความคิดเห็นผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด หลังจากปิดหีบการเลือกตั้งเมื่อวานนี้จนถึงวันนี้ ชาวเน็ตโพสต์ ทวีต กันอย่างคึกคัก โดยมีค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) สูงถึง 6,944,561 ครั้ง ทั้งช่องทางเฟซบุ๊ก 5,303,397 อินสตราแกรม 593,942 และทวิตเตอร์ 1,002,613 เป็นชาย 42% และหญิง 58%

ชาวเน็ตอยากเห็นสูตรก้าวไกล, เพื่อไทย,เสรีรวมไทย,ไทยสร้างไทย,รวมพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน ตั้งรัฐบาล

+ ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่า เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติร่วมกันตั้งรัฐบาลแล้ว ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

+ เพื่อไทย คุมเศรษฐกิจ/ก้าวไกล คุม มหาดไทย ปฏิรูป ข้าราชการและตำรวจ/เสรีรวมไทย คุมกลาโหม ปฏิรูปทหาร ข้าราชการ/ไทยสร้างไทย คุมสาธารณสุข/ประชาชาติ คุมเกษตร

+ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เพื่อชาติ และพรรคฝ่าย ปชต.จะเป็นรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนประเทศไทย

+ เลือกตั้งยึดเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยก็ต้องยอมรับ พรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดย่อมมีสิทธิตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าพรรคที่สามหรือพรรคที่สี่แย่งจัดตั้งรัฐบาลเสียหลักการประชาธิปไตย

ขณะที่ Negative มีสัดส่วน 14.38% ที่มองโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

– แม้ได้นายกรัฐมนตรี จากฉันทามติของประชาชน แต่เส้นทางยังอีกยาวไกล

– ไม่เห็นด้วยกับการนำพรรครัฐบาลเก่ามาร่วม หากต้องการให้เสียงถึง 376 เสียงเพื่อสู้กับเสียง ส.ว.250 เสียง

– วันที่โหวตลเอกนายกฯ ประชาชนอาจไปรวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อกดดัน ส.ว.

– การจุดประเด็นเรื่องหุ้นของว่าที่นายกฯ พิธา อาจนำไปสู่การใช้วิธีเก่าๆ เรียกมวลชนลงถนนแล้วเชิญ ทหารมาปกครอง/ยึดอำนาจตามที่วางแผนกันไว้

– หากยุบพรรคก้าวไกลอาจเกิดแรงกระเพื่อมมากกว่าเมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top