รัฐบาล กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 66 ควบคู่รับมือเอลนีโญ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มั่นใจแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 และการปฏิบัติการดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาของกรมชลประทานที่ดำเนินการไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางรับมือฤดูฝนในปี 2566 เน้นย้ำการปฏิบัติตาม 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นความผันแปรของสภาพอากาศในมหาสมุทร ตลอดจนเน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

ทั้งนี้ จากการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในปี 2564/65 (สิ้นสุดลงไปเมื่อ 30 เม.ย.65) จัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้าน ลบ.ม. ด้านการเพาะปลูกฤดูแล้งทั้งประเทศมีพื้นที่รวมกว่า 8.11 ล้านไร่ โดยกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนในปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ทำให้ในเขตพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอ โดยปัจุบันพบว่าการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งในเขตพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้อีกด้วย

ส่วนช่วงฤดูแล้งในปี 2565/66 กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (1 พ.ย.65-30 เม.ย.66) ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม.เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สำหรับด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 มีพื้นที่รวม 10.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยารวม 6.35 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพาะปลูกที่วางไว้เช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนปี 2566 พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.66 พร้อมเดินหน้าโครงการชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. รวมไปถึงเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า และกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับรู้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุม ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย ปกป้องวิถีชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน พร้อมสั่งการเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที” นายอนุชา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top