ศาลรธน.เสียงข้างมากตีตกพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กม.อุ้มหาย ชี้ขัดรธน.

ศาลรัฐธรมนูญ มีมติเสียงข้างมากสั่งยกเลิกกฎหมายเลื่อนกำหนดบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ส.ส.จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ใน 4 มาตรา ออกไปเป็นการชั่วคราว จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 แต่แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

สำหรับมาตราที่ได้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป ประกอบด้วย

– มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับกุมและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว

– มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

– มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว

– มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top