ZoomIn: เปิดโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจ ก้าวไกล VS เพื่อไทย

หลังจากเริ่มเห็นเค้าลางหน้าตารัฐบาลใหม่ ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งเป็นการจับมือกันของ 8 พรรคการเมือง ในการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่จับตาทุกครั้งในการตั้งรัฐบาลใหม่ คือ การแบ่งเค้ก หรือแบ่งโควตากระทรวง

ซึ่งงานนี้แม้ “ว่าที่นายกฯ พิธา” จะลั่นวาจาไว้ว่า การจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมือง ควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเอากระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นคำพูดนี้ จะสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่นั้น คงต้องคอยติดตามกัน

ก่อนที่จะไปถึงการจัดโผ ครม.พิธา ที่ตอนนี้ต่างมีออกมาสารพัดโผ จัดวางตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีให้แต่ละพรรคเสร็จสรรพเรียบร้อย เราลองมาเช็คลิสต์ทีมเศรษฐกิจของ 2 พรรคใหญ่ ระหว่าง “ก้าวไกล” VS “เพื่อไทย” ก่อนว่าจะมีลุ้นไปนั่งกุมบังเหียนกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือไม่ จากโปรไฟล์ของแต่ละคน ดังนี้

*สด-ใหม่ ต้องยกให้ “ก้าวไกล”

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) วางแกนนำหลักทีมเศรษฐกิจ 7 คน ที่มีส่วนผสมจากกลุ่มบุคคลหลายอาชีพ หลากความสามารถ ทั้ง ส.ส. นักวิชาการ ข้าราชการ และนักธุรกิจ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจภาคเมือง เศรษฐกิจภาคชนบท เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค ประกอบด้วย

1. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล

ประวัติการทำงาน มีประสบการณ์ทำงานด้านวิชาการ เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ จากทั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่

และหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล และได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ฝีมือการอภิปรายในสภาฯ ถือว่าเป็นที่จับตา ข้อมูลแน่น ประเด็นเฉียบคม ล่าสุดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

2. นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล

ประวัติการทำงาน เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ปัจจุบัน เป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพมหานคร และยังมีตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ และเป็นอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล

ประวัติการทำงาน เป็นกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์ แบรนด์ไทย “Moshi Moshi” เป็นอาจารย์พิเศษ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรีควบโท และเป็นผู้พิพากษาสมทบ ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการกำกับโครงการการจัดทำข้อเสนอแนวทางการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการชดเชยให้มีการตอบแทน (offset) สำหรับการเจรจากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศไทยในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ส่วนบทบาทในสภาฯ มีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา วิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาของภาคธุรกิจในประเทศไทย คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร

4. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร

ประวัติการทำงาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงินดิจิทัล และนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล โดยได้รับมอบหมายจากพรรคให้รับผิดชอบเรื่องการแปลงข้อมูลให้เป็นขุมทรัพย์ประเทศ มีประสบการณ์ทำงานพัฒนาภาคการเงินการธนาคารด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล ในช่วงที่ทำงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในตำแหน่งสุดท้ายเป็น ล่าสุดรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท.

ก่อนหน้านี้ เป็นที่ปรึกษา Bank for International Settlements (BIS), Innovation Hub และเป็นนักวิจัยอาวุโส NEC Corporation, Central Research Labs. อีกทั้งยังเคยเป็นนักวิจัยที่ Japan Advanced Institute of Science and Technolog วิศวกร บริษัท Schlumberger Overseas S.A

5. นายวรภพ วิริยะโรจน์

จากผู้ประกอบการ Fintech และ SMEs ก้าวสู่วงการการเมือง ด้วยการเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2564 เดินหน้าต่อสู้กับนโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรม มีผลงานอภิปรายในสภาฯ เกี่ยวกับทุนผูกขาด

ผลงานอภิปรายในสภาเกี่ยวกับทุนผูกขาด และต่อสู้กับนโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมซึ่ง จะมาเป็นผู้ผลักดันนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ของพรรคก้าวไกล ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากพรรคอื่นด้วยแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับคนธรรมดาและภาคธุรกิจ ผ่านการปรับนโยบายพลังงานของไทยอย่างเป็นระบบ

6. นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

ปัจจุบันเป็น รองศาสตราจารย์ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะ แห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สอนและทำวิจัยด้านนโยบายอุตสาหกรรม การพัฒนาของเอเชียตะวันออก กับดักรายได้ปานกลาง

มีงานวิจัยเรื่องเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย และกับดักรายได้ปานกลาง เป็นผู้เขียนหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี : เศรษฐกิจแห่งอนาคต” เคยเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ พรรคอนาคตใหม่ ผู้เสนอนโยบาย “ไทยสองเท่า” เพื่อคนไทยเท่าเทียมกันและประเทศไทยเท่าทันโลก

7. นายเดชรัต สุขกำเนิด

เป็นผู้อำนวยการ Think Forward Center สถาบันวิชาการนโยบายของพรรค เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่รู้จักในฐานะวิทยากรผู้ผลักดันการเรียนรู้นอกห้องเรียน พร้อมจะร่วมเป็นผู้ผลักดันการแก้ปัญหาและปลดล็อกชีวิตเกษตรกรไท

*เพื่อไทย : เก๋าเกม เต็มประสบการณ์

ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ภายใต้หลักการที่ใช้เป็นหัวใจการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทย คือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” พรรคเพื่อไทยจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% โดยเพื่อไทยใช้แนวคิด “รดน้ำที่ราก” เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

1. นายเศรษฐา ทวีสิน

นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประบความสำเร็จ ตำแหน่งสุดท้ายในวงการ เป็นประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ ก่อนจะลาออกและกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัวร่วมกับพรรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) และยังเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยด้วย

2. นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย อดีตเคยดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน และรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ นพ.พรหมินทร์ ถือว่ามีบทบาทและเป็นมันสมองที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกลุ่มแคร์ (CARE) ที่เป็น Think Tank ของพรรคเพื่อไทย

3. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

ผ่านมาแล้วกับ 3 ตำแหน่งรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการมาแล้ว 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ได้เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

4. นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญในรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ทักษิโณมิกส์”

ในช่วงปี 2531-2534 นายพันศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอยู่เบื้องหลังนโยบายที่มีชื่อเสียงของรัฐบาลชาติชาย คือ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” และเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา (นพ.สุรพงษ์สืบวงศ์ลี) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

5. นายศุภวุฒิ สายเชื้อ

นักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เมอร์ริลลินช์ภัทร ส่วนตำแหน่งทางการเมือง เคยทำหน้าที่เป็นปรึกษาด้านนโยบายการเงินคลังให้กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็น รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และเมื่อปี 2540 เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ขณะนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

6. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร

อดีตผู้แทนการค้าไทย ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเศรษฐกิจและการเจรจาอย่างมาก การทำงานที่ผ่านมา เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) นอกจากนี้ ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top