อินเดียเจอปัญหาราคานมแพง หลังดีมานด์พุ่ง-ผลกระทบโรคระบาดในปศุสัตว์

อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับภาวะราคานมที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าราคาจะไม่ชะลอตัวลงจนถึงเดือนพ.ย.ปีนี้

นายอาร์เอส โสธี อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทคุชราต โคโอเปอเรทีฟ มาร์เก็ตติ้ง ฟาวเดชั่น (Gujarat Cooperative Milk Marketing Foundation) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่อันดับหนึ่งของอินเดียกล่าวว่า “ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ราคานมและผลิตภัณฑ์นมพุ่งขึ้นอย่างผิดปกติ โดยปรับตัวขึ้นรุนแรงถึง 14-15%”

การพุ่งขึ้นของราคานมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศอินเดียเป็นผลมาจากต้นทุนอาหารเลี้ยงวัวที่ปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการนมเพิ่มขึ้นสำหรับการทำไอศกรีม และผลกระทบจากโรคระบาดในฝูงปศุสัตว์ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ

ทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% ของการผลิตนมทั่วโลก รองลงมาคือสหรัฐ จีน ปากีสถาน และบราซิล

ข้อมูลจาก Mintec ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านอาหารระบุว่า ในช่วงเดือนพ.ย. 2564 จนถึงต้นเดือนพ.ค.ปีนี้ ราคานมในอินเดียพุ่งขึ้นสู่ระดับ 53 รูปี/ลิตร (ประมาณ 0.55-0.64 ดอลลาร์สหรัฐ) จากระดับ 46 รูปี/ลิตร

นายโสธีกล่าวว่า “สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชาวอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคนมมากที่สุดในโลก โดยในอินเดียนั้น ทุกครัวเรือนจะซื้อนมในทุก ๆ วัน การบริโภคนมต่อประชากร 1 คนอยู่ที่ราว 440 กรัม/วัน และชาวอินเดียทุกคนจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการดื่มนม”

“ในทุก ๆ เช้า ชาวอินเดียจะดื่มนม ทั้งในรูปของนมขวด นมชงกับชาและกาแฟ ขนมหวานส่วนใหญ่ในอินเดียทำจากนม นอกจากนี้ ยังมีอาหารประเภทอื่น ๆ ที่ต้องทำจากนม เช่น ปานีร์ (paneer) ซึ่งเป็นชีสสด, เนยกี (ghee) และโยเกิร์ต” นายโสธีกล่าว

นายแมทธิว บิกกิน นักวิเคราะห์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์จาก BMI ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในเครือของฟิทช์ โซลูชันส์กล่าวว่า ราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดตามฤดูกาล ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคานมในอินเดียพุ่งขึ้น

ข้อมูลจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติของอินเดียระบุว่า อาหารที่ใช้เลี้ยงวัวส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และข้าวโอ๊ต โดยราคาของวัตถุดิบเหล่านี้พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงกลางปีที่แล้วและยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงขึ้นนั้นมาจากการที่รัสเซียเข้าทำสงครามในยูเครน ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและผลักดันให้ราคาสูงขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top