ตีปีก! ส่งออกไก่เนื้อไทยปี 66 ดีมานด์โตต่อเนื่อง หลังศก.ฟื้น-จีนเปิดปท.

SCB EIC ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ ทั้งจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง คือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่อาจจะชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยืดเยื้อ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของการใช้จ่าย และกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย ผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนราว 70% ของผลผลิตไก่ทั้งหมด ดังนั้น การบริโภคในประเทศจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีกราว 30% เป็นการส่งออกไปขายยังประเทศคู่ค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดในภูมิภาคเอเชีย

การบริโภคเนื้อไก่ในประเทศ ทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการจำหน่ายเนื้อไก่แช่เย็น-แช่แข็ง และเนื้อไก่ปรุงสุก ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ภาคท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทั้งจากภาคครัวเรือน และภาคบริการเติบโตสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกไก่สด-ชำแหละในประเทศ แม้จะชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สอดรับกับความต้องการบริโภค และต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่การส่งออกไก่เนื้อ มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยได้รับแรงหนุนหลักจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 2) การเปิดประเทศของไทย และการยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน 3) การทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานส่งออกไก่ของไทย 4) โรคระบาดในสุกร (ASF) ที่ยังยืดเยื้อ และ 5) การส่งออกเพื่อทดแทนประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ที่ระงับการส่งออกไก่ชั่วคราว จากปัญหาอุปทานไก่ที่ขาดแคลน

สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยในปีนี้ และระยะต่อไป ได้แก่

  • โรค ASF ในสุกร การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จะยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อความต้องการบริโภคเนื้อไก่ ในฐานะสินค้าทดแทนในช่วง 1-2 ปีนี้
  • Brexit การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาด UK มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไก่ในอนาคต ยังอาจได้รับอานิสงส์จากการบรรลุข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) ร่วมกัน
  • การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย การส่งออกไก่เนื้อไปยังคู่ค้าอย่างซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจปูทางไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในระยะต่อไป
  • การทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานแปรรูปและส่งออกไก่ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าของไทยหลายประเทศได้ทยอยให้การรับรองมาตรฐานโรงงานไก่ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าการผลิตไก่เนื้อของไทยมีมาตรฐานในระดับสากล ตลอดทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไก่ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย จะมีปัจจัยหนุนการเติบโตหลากหลายด้าน แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงด้านลบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่อาจส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ 2) ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนหลักอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี และกากถั่วเหลือง ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง 3) ข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 4) แนวโน้มการแข่งขันจากสินค้าทดแทนเนื้อไก่ ที่เริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น และ 5) โรคระบาดในสัตว์ปีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก (Bird flu) ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตไก่เนื้อในไทย

SCB EIC มองว่า การปรับกลยุทธ์การเติบโตของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์ผู้บริโภค และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ที่มีความแปลกใหม่ และมีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่าง และรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top