แนะไทยปรับแผนธุรกิจหาตลาดสำรองส่งออกโซลาร์เซลล์ ลดเสี่ยงสหรัฐฯ ใช้ AD/CVD

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่ประเทศไทยกำลังถูกสหรัฐอเมริกา ไต่สวนจากกรณีที่มีผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนบางราย พยายามเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บอากรขาเข้าในอัตราที่สูง เช่นเดียวกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในจีน (16-254%) แม้เบื้องต้น ผลกระทบต่อไทยยังคงอยู่ในวงจำกัด ภายใต้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ยกเว้นอากรดังกล่าวถึงกลางปี 2567

อย่างไรก็ดี แรงกดดันก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากความเห็นต่างของรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จนนำมาสู่การผ่านมติให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่ามติดังกล่าว ได้ถูกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้สิทธิ์ยับยั้งไปในช่วงกลางเดือนเดียวกัน

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่อการวางแผนปรับตัวของผู้ประกอบการ ทั้งผู้นำเข้า และผู้ผลิต ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ได้เลื่อนการประกาศผลไต่สวนขั้นสุดท้ายจากต้นเดือนพ.ค. ไปเป็นกลางเดือนส.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันดังกล่าว ต่อการเริ่มเปลี่ยนแหล่งนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ และผลกระทบจากการปรับห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตต่อการส่งออกไทย ดังนี้

1. มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ อาจจะเริ่มพิจารณา ปรับหรือเพิ่มทางเลือกของแหล่งนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของตนเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2567 เพื่อลดความเสี่ยงด้านธุรกิจ ที่ปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพาแหล่งนำเข้าจาก 4 ประเทศที่ถูกไต่สวน (ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา) ในสัดส่วนที่สูงกว่า 69% ของมูลค่านำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ

โดยเฉพาะการปรับไปนำเข้าจากแหล่งใหม่อย่าง “อินเดีย” ซึ่งมีผู้ประกอบการหลากหลาย ทั้งสัญชาติอินเดีย สหรัฐฯ และจีน เนื่องจากพบสัญญาณการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 แซงหน้าเกาหลีใต้ ขึ้นมาครองส่วนแบ่งการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 5 และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับมาเลเซีย และกัมพูชา แม้จะมีราคาต่อหน่วยที่สูงกว่าประเทศอาเซียนที่ถูกไต่สวนเฉลี่ยกว่า 10% เพราะผู้ผลิตในอินเดีย ยังต้องอาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากจีน และบางส่วนจากอาเซียน แม้การนำเข้าชิ้นส่วนจากอาเซียน จะไม่มีอากรขาเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย แต่อากรขาเข้าจากจีนจะอยู่สูงถึง 25% ทำให้ภาพรวมต้นทุนชิ้นส่วนของอินเดีย จะอยู่สูงกว่าประเทศอาเซียนที่ก็ใช้ชิ้นส่วนจากจีน แต่ไม่มีอากรขาเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ พิจารณาการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศที่สามที่ไม่ได้ถูกไต่สวน อย่างอินเดีย ว่าอยู่นอกข่ายเลี่ยงมาตรการ AD/CVD แม้จะมีการใช้ชิ้นส่วนจากประเทศที่ถูกไต่สวนหรือเกี่ยวเนื่องกับจีน

2. ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จีนบางส่วน โดยเฉพาะที่อยู่ในเวียดนาม และถูกกล่าวหาว่าเลี่ยง AD/CVD ในผลไต่สวนขั้นต้นที่ประกาศช่วงปลายปี 2565 เริ่มขยับไปใช้ฐานประกอบในอินเดีย เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งผลกดดันยอดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ของเวียดนามในไตรมาส 1/2566 ให้มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนราว 11.8%

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่พบสัญญาณการปรับห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการจีน ในประเทศที่ถูกไต่สวนอื่นรวมถึงไทย ทว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ในระยะข้างหน้า ผู้ผลิตจีนบางรายที่เข้าข่ายเลี่ยง AD/CVD อาจทยอยพิจารณาใช้แนวทางเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

3. ระดับผลกระทบต่อไทย แม้ว่าโดยภาพรวมยังคงต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการยื่นอุทธรณ์ต่อข้อกล่าวหาเลี่ยง AD/CVD แต่ว่าแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจผลักดันให้ผู้ผลิตจีนบางรายที่เข้าข่ายเลี่ยง AD/CVD ปรับแผนธุรกิจของตนเร็วกว่าที่คาด

ปัจจุบัน ผู้ผลิตจีนบางรายที่มีฐานอยู่ในไทย มักมีการลงทุนโรงงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์ในอินเดีย เพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้การปรับแผนการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะทำได้ไม่ยาก และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดว่าน่าจะเป็นช่วงใกล้การหมดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า โดยเฉพาะหากคู่ค้าในสหรัฐฯ เริ่มร้องขอให้พิจารณาแนวทางสำรอง เพื่อไม่ให้อุปทานขาดตอน ซึ่งผลสืบเนื่องดังกล่าว อาจส่งผลกดดันการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรณีดังกล่าว น่าจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2566 เติบโตเพียง 30% คิดเป็นมูลค่า 1,622 ล้านดอลลาร์ฯ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราว 57% หากผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานปีหน้า”

ทั้งนี้ แม้ทิศทางอัตราการเติบโตจะให้ภาพที่ชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมองว่าสหรัฐฯ ยังมีความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าในจังหวะที่การลงทุนเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นเองภายในประเทศยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง

4. สำหรับการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2566 นั้น แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปสหรัฐฯ จะคิดเป็นกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปตลาดโลก แต่การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปตลาดอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวในปีนี้ตามแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,705 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวราว 23% ชะลอตัวจากปี 2565 ที่เติบโตราว 71%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นอกจากประเด็นการเลี่ยง AD/CVD แล้ว ในระยะข้างหน้า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ไทยที่พึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก คงต้องเร่งปรับตัวรับมือกับนโยบายพึ่งพาตนเอง เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน หันมาใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ผ่านกฎหมายจัดการเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่ให้สิทธิประโยชน์หลากหลาย ทั้งการลดหย่อนภาษี และเครดิตเงินคืน รวมถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะมีการออกมาตรการทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นอีก เพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับจีน ถึงแม้ว่าศักยภาพการเติบโตของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์สหรัฐฯ จะยังคงมีอยู่สูงก็ตาม

โดยจากการประเมินของ EIA พบว่า น่าจะมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดกว่า 38.7% ต่อปี ในระหว่างปี 2566-2568 สวนทางกับความต้องการไฟฟ้าของสหรัฐฯ ที่น่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.6% ต่อปี ดังนั้น การกระจายตลาดส่งออกและการปรับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งวางแผนเตรียมการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top