ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯของ BAFS วงเงินไม่เกิน 1 พันลบ.ที่ BBB-(tha)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) (อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ที่ ‘BBB-(tha)’

หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีจำนวนไม่เกิน 1 พันล้านบาท ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะนำไปสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและชำระคืนเงินกู้

หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAFS ซึ่งอยู่ที่ ‘BBB+(tha)’ อยู่ 2 อันดับ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่อง “Corporate Hybrids Treatment and Notching Criteria” เพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องรองรับผลขาดทุนที่สูงกว่าปกติ เมื่อเทียบกับหนี้อื่นๆของบริษัท

ฟิทช์พิจารณาให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน (Equity Credit) ร้อยละ 50 ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่อง “Corporate Hybrids Treatment and Notching Criteria” โดยลักษณะที่คล้ายทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวประกอบด้วย สถานะด้อยสิทธิ การมีระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity) คงเหลือมากกว่า 5 ปี สิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ในการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และการกำหนดเหตุผิดนัดที่จำกัดมาก ส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุนถูกจำกัดที่ร้อยละ 50 เนื่องจากดอกเบี้ยที่มีการเลื่อนการชำระจะต้องมีการสะสมเอาไว้ชำระภายหน้า

หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน (Perpetual) โดยฟิทช์ถือว่ากำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น

(Effective Maturity) คือวันที่ครบกำหนดปีที่ 50 นับจากวันออกหุ้นกู้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะมีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1 ในปีที่ 51 เป็นต้นไป ดังนั้นส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุนจะถูกปรับลดจากร้อยละ 50 เป็น 0 เมื่อระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็นคงเหลือน้อยกว่า 5 ปี

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566-2567 จากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน หลังจากที่เกือบทุกประเทศได้มีการเปิดประเทศ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ BAFS จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่า ในปี 2566 และประมาณ 5 เท่า ในปี 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ 15.2 เท่า) ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 84 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในปี 2566 และร้อยละ 98 ในปี 2567

ฟิทช์ไม่ได้ปรับประมาณการในปี 2566-2567 อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 2565 จะต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในประเทศจีน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 49 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งต่ำกว่าที่ฟิทช์ประมาณการไว้ที่ประมาณร้อยละ 55

การที่ประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566น่าจะสนับสนุนการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และปี 2567

กระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกแม้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่า BAFS จะสามารถมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ BAFS น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 900 ล้านบาท-1 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2566 และ 2567 จาก 287 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน

BAFS ยังคงมีแผนในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แต่การลงทุนดังกล่าวน่าจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะดำเนินการขยายธุรกิจดังกล่าวหลังจากปี 2566 อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยใช้หนี้ เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2564 จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น และทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไปอย่างมาก

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ: สัดส่วนรายได้และกำไรจากบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BAFS จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือตอนบนน่าจะใช้เวลากว่าที่จะชดเชยกระแสเงินสดที่ลดลงจากการให้สิทธิการบริหารระบบท่อขนส่งน้ำมันในช่วงกรุงเทพฯถึงบางปะอิน แก่บริษัทลูกของ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น BCP)

ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือตอนบนในปี 2565 อยู่ต่ำกว่าที่บริษัทฯประมาณการไว้ประมาณร้อยละ 20 ฟิทช์คาดว่าโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันจะทำให้ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ เพิ่มขึ้นในปี 2568

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียวและเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยเนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับสัมปทานจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้

ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น(โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่ อีกทั้งธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันจำกัดเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจ

รายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: การที่ BAFS ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียนน่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของ BAFS ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าให้ยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากแหล่งพลังงานที่อาจจะแปรปวนได้ โดยโครงการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปีกับคู่สัญญาที่มีความแข็งแกร่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและบริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงการในประเทศญี่ปุ่น ฟิทช์คาดว่าธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะมี EBITDA (รวมเงินปันผลรับ) ที่สม่ำเสมอให้แก่ BAFS ที่ระดับประมาณ 250 ล้านบาทต่อปี

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า นวนคร (NNEG) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีรายได้ร้อยละ 70-80 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

บริษัททั้งสองจึงมีความเสี่ยงในด้านการแข่งขันที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของ BAFS ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก BAFS มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า NNEG ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินในทำเลที่ตั้งเดียวและดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า NNEG ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG เป็นอย่างมาก เนื่องจากการกำไรที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการลงทุนที่สูงในระบบขนส่งน้ำมันทางท่อและธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2563-2567 สถานะทางการเงินของ BAFS อ่อนแอกว่า NNEG ทำให้ BAFS มีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับ

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) เช่นเดียวกันกับ NNEG GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อย่างไรก็ตาม GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์และรายได้ที่ดีกว่า

อัตราส่วนหนี้สินของ GPSC ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า BAFS แต่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3

ปีข้างหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ GPSC ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC หนึ่งอันดับ

 

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

– ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 84 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปี 2566 และร้อยละ 98 ในปี 2567 (2565 อยู่ที่ร้อยละ 49)

– อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 52-55 ในปี 2566 และ 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 33.6)จากการฟื้นตัวของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน

– ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนรวมประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2566 และ 2567 ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน

– จ่ายเงินปันผลในจำนวนที่ต่ำในปี 2566 และจ่ายเงินปันผลร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิในปี 2567

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

– แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 6.0 เท่าได้ภายในปี 2566

ปัจจัยลบ:

-อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าหลังจากปี 2566

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ: BAFS มีสภาพคล่องที่ดี โดยมีเงินสดที่เพียงพอ และการชำระคืนหนี้ที่ดี BAFS มีหนี้สินจำนวน 1.3 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยมีเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 1.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 โดยสภาพคล่องดังกล่าวน่าจะเพียงพอสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top