ส่วยทางหลวงทุจริตเฉียดปีละ 2 หมื่นลบ. “วิโรจน์” แนะล้างบางต้นตอ-แก้กม.ปิดช่องโหว่

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นปัญหาส่วยทางหลวง ว่า ส่วยทางหลวงไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ มีมานานหลายสิบปี มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันสูงในระดับหมื่นล้านบาท และกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะเมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น อีกทั้งเมื่อเจอกับการแข่งขันที่ต้องตัดราคากันเอง ยิ่งทำให้กำไรลดลงมาก

ท้ายที่สุด จึงผลักต้นทุนจากการจ่ายส่วยไปยังค่าขนส่ง เมื่อค่าขนส่งเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องปรับราคาขึ้น กระทบผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตาม นอกจากนั้น รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหาย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาถนน ถ้าประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ รัฐบาลจะมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนเพิ่มขึ้น

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ต้นเหตุของปัญหาส่วยทางหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้าราชการของกรมทางหลวงบางคน ตำรวจท้องที่ และตำรวจทางหลวงบางนาย อาศัยช่องว่างทางกฎหมายไปรังควานผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเสียเวลาทำมาหากิน จากวันหนึ่งวิ่งได้ 2-3 เที่ยว อาจเหลือแค่ 1 เที่ยวเท่านั้น

“พฤติกรรมรังควานแบบนี้ เป็นเหตุให้เกิดขาใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นโต้โผเอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปเคลียร์กับข้าราชการบางคน ตำรวจบางนาย แล้วมาผลิตสติ๊กเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบกิจการขนส่งรายอื่นๆ พอเจ้าหน้าที่เห็นสติ๊กเกอร์ ก็เป็นอันรู้กัน” นายวิโรจน์กล่าว

พร้อมระบุว่า สติ๊กเกอร์แต่ละดวง มีมูลค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับระยะทาง และจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่น จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับคิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน ในปีๆ หนึ่ง มูลค่าส่วยทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท เมื่อดูข้อมูลเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในแต่ละปี รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท เฉพาะส่วยทางหลวงจึงคิดเป็นราว 10% แล้ว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาส่วยทางหลวง ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน คือ

  • ด้านที่ 1 คือการปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใด ต้องส่ง ป.ป.ช. เอาเรื่องให้ถึงที่สุด และใช้กลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ในการยึดทรัพย์

  • ด้านที่ 2 คือการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน รีดไถหรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน ถ้าพบต้องมีการดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

โดยในวันที่ 1 มิ.ย. 66 ทางสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะเดินทางมาเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือและหารือร่วมกับนายวิโรจน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top