ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เม.ย.หดตัวต่อเนื่องรับผลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย.66 อยู่ที่ระดับ 83.51 หดตัวที่ 8.14% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย.65 เนื่องจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น กดดันภาคการส่งออกและขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมไทยลดลง

ขณะที่ดัชนี MPI 4 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ระดับ 96.87 หดตัว 4.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนี้ได้ปรับประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปีนี้ขยายตัวที่ 0.0-1.0% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.5-2.5%

“ดัชนี MPI หดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออก ซึ่งถือว่าหดตัวค่อนข้างรุนแรง” นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

*อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือน เม.ย.66 ได้แก่

– น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.15% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตของน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

– ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.87% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก ตามปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่นเดียวกับการเดินทางในประเทศที่กลับสู่ระดับปกติ

– มอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.58% เนื่องจากความต้องการบริโภคที่มากขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

– น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.92% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยในปีนี้มีปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ผลปาล์มมีมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับลดลง ความต้องการในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นตาม

– ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.14% จากผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียน เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้สามารถเปิดเรียน Onsite เต็มรูปแบบ ทำให้มีการใช้กระดาษพิมพ์เขียนมากขึ้น ประกอบกับอานิสงส์จากการใช้กระดาษในกิจกรรมการเลือกตั้ง

*อุตสาหกรรมที่ส่งผลลบฯ ได้แก่

– HDD หดตัวลดลง -41.59% จากการพัฒนาเทคโนโลยีความจุ ทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาแพงขึ้นตามความจุ

– เหล็กและเหล็กกล้า หดตัวลดลง -23.36% จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และมีการชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากราคาผันผวน

– เฟอร์นิเจอร์ หดตัวลดลง -36.03% จากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

– อาหารสัตว์สำเร็จรูป หดตัวลดลง -15.52% จากการสต๊อกสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมากในปีก่อน

– เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ หดตัวลดลง -35.24% จากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ยาก เพราะแทบจะแข่งขันไม่ได้แล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้, อุตสาหกรรมถุงมือยาง, อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดดยต้องเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาทางรอด เช่น การส่งออกในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีแนวโน้มลดลง แต่หากเป็นการส่งออกเส้นใยกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่า ดัชนีอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.66 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากดัชนีฯ ในเดือน เม.ย.จะเป็นระดับที่หดตัวสูงสุดแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top