CHO เร่งแก้สภาพคล่องจ่อเพิ่มทุน-เปิดทางพันธมิตร M&A-ระดมทุนแบบ SPAC หวังคืนหนี้หุ้นกู้-เงินกู้

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมชี้แจงในรูปแบบ On-site ต่อผู้ถือหุ้นกู้ CHO21OA, CHO212A, CHO229A และ CHO228A เกี่ยวกับแผนการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ในวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย.66 และจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอให้ผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าว ลงมติพิจารณาเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ย และเงินต้นใหม่ และการขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่ได้ถือเป็นเหตุผิดตามข้อกำหนดสิทธิ ซึ่งรวมถึงผลของการกำหนดชำระโดยพลัน (Call Default)

สำหรับความเสี่ยงผิดนัดชำระหุ้นกู้ทั้ง 4 รุ่น สาเหตุมาจากเงินที่คาดว่าจะได้จากการระดมทุนในรูปแบบ SPAC ของ บริษัท AROGO Capital Acquisition Corp. (บริษัทย่อย) ในตลาดหุ้น Nasdaq สหรัฐอเมริกา เข้ามาไม่ตามกำหนด เนื่องจากบริษัท EON Reality Inc. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Metaverse ซึ่งเป็นบริษัทที่ AROGO จะเข้าควบรวมกิจการ ได้มีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชี ทำให้การทวนสอบบัญชีทั้งหมดมีความล่าช้า ส่งผลให้การควบรวมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค. ไม่เป็นไปตามกำหนด และล่าช้าออกไปอีก 4 เดือน

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าการควบรวมน่าจะจบ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.สหรัฐ) ได้ภายในเดือนก.ย.-ต.ค.66 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะมีการบันทึกกำไรเข้ามาในบริษัทฯ และจะติด Silent period หรือช่วงเวลาห้ามขายหุ้น อีกประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจะสามารถขายหุ้นและทำเงินกลับไทยได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้สภาพคล่องของบริษัทสะดุดไป

บริษัทฯ จึงได้วางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องจากปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1. การเพิ่มทุน 2.การระดมทุนจากบุคคลหรือผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) หรือจากผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) เพื่อหาพาร์ทเนอร์ในการเข้ามาทำ M&A คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 1/67 และ 3. บริษัทฯ คาดได้รับเงินจากการระดมทุนในรูปแบบ SPAC เข้ามากองแรก

อย่างไรก็ตามคาดเงินทั้งหมดที่จะมาจากการเพิ่มทุน และการระดมทุนดังกล่าวข้างต้น น่าจะเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ และรองรับการดำเนินงานของบริษัท ส่วนเงินที่ได้จาก SPAC ก็คาดจะเพียงพอต่อการชำระคืนหุ้นกู้ทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมการบริษัทฯ ยังพิจารณาให้บริษัทดำเนินการทำ SPAC กอง 2 และ 3 ต่อเนื่อง เพื่อให้มีกำไรอย่างมั่นคงในอนาคต

“ในปีนี้และปีหน้า จะเป็นปีที่บริษัทจะต้องระดมทุนและเพิ่มทุน เพื่อมาลดเงินกู้ยืม หรือลดดอกเบี้ย เพื่อจะทำให้บริษัทอยู่ในสถานะสามารถทำกำไรได้จากการดำเนินงาน” นายสุรเดช กล่าว

นายสุรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ คาดรายได้ปีนี้น่าจะเติบโตไม่มาก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ 527.53 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายอาจจะไม่ต่างกับปีก่อนมากนัก แต่แผนการดำเนินงานปีนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของการลดหนี้สินและการทำกำไรให้ได้ ซึ่ง ณ ไตรมาส 1/66 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 125 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 642.78 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯ มีหุ้นกู้เหลืออยู่ราว 700 ล้านบาท หนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ก็ลดลงไปประมาณ 300 ล้านบาท โดยช่วงโควิด-19 เป็นต้นมามีการจ่ายหนี้คืนไปเกือบ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ก็จะไปมุ่งเน้นธุรกิจใหม่ ล่าสุดบริษัทฯ ได้มีการเจรจากับบริษัทที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากรัฐบาลมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรม เพิ่มฐานการผลิตของ Catering ในตะวันออกกลาง

ด้านแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 คาดว่าน่าจะทรงตัว จากมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามา แต่อาจบันทึกในไตรมาสนี้บางส่วน และไตรมาส 3/66 บางส่วน

ณ วันที่ 31 มี.ค.66 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 1,120.31 ล้านบาท คาดรับรู้ปีนี้ราว 325.86 ล้านบาท และในปี 67 794.45 ล้านบาท

อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแผนล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 1,300 ล้านบาท ให้หมดภายในไตรมาส 3/67 จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนใน SPAC มาล้างขาดทุนสะสม หลังจากจากนั้นก็จะกลับมาทำกำไรและกลับมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top