นายกฯ ยันถกปมเมียนมาไม่ได้เข้าข้าง แต่หวังหาทางออก-ลดปัญหาการสู้รบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ของประเทศเมียนมาเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) ว่า ได้รับรายงานการประชุมจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีมาร่วมประชุม 9 ประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่เข้าร่วม แต่ไม่เป็นไร เพราะรายละเอียดการประชุมทั้งหมด ต้องส่งให้รับทราบกันอยู่แล้ว

พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการไปตกลงอะไรกับใคร แต่เป็นการเดินหน้าการแก้ไขปัญหาในกรอบฉันทามติ 5 ข้อ หรือ Five point consensus ซึ่งยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และจะต้องระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการของสหประชาชาติด้วย ในฐานะที่ไทยเป็นเพื่อนบ้านติดกับเมียนมา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกประเทศในอาเซียนต่างคาดหวังว่าประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาได้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าไทยก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในเรื่องของผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชน โดยหากติดตามดู จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีการสู้รบที่รุนแรงขึ้น ได้มีการหารือว่าจะลดความรุนแรงลงได้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ที่วันนี้มีประชาชนหลายพันคนตามแนวชายแดนเข้ามาในฝั่งไทย และไทยก็ดูแลตามหลักมนุษยธรรม และส่งกลับตามความสมัครใจ พร้อมกับดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะลดการสู้รบให้ได้มากที่สุด ซึ่งขอให้ช่วยพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ด้วย พร้อมย้ำว่า การหารือวานนี้ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงใดๆ เป็นเพียงการเสนอแนะแนวปฏิบัติ สุดแล้วแต่จะปฏิบัติกันได้อย่างไร

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้เชียร์หรือเอนเอียงไปทางเมียนมา ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติไปแล้ว ในส่วนของมติของอาเซียน ก็มีกรอบฉันทามติ 5 ข้อ หากยังไม่ก้าวหน้าก็จะต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะเสนอเข้าไปในอาเซียนอยู่แล้ว

“เรื่องนี้ไม่ใช่การขัดแย้งอะไรกับใคร แต่ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยว่า ความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่เป็นความคิดเห็นจากภายนอกต่างๆ ก็รับฟัง อะไรปฏิบัติได้ ก็ปฏิบัติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้อาจจะมีแรงกดดันมากขึ้นไปยังเมียนมา ไทยจะต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับไทยในเรื่องของการค้าขายชายแดน การข้ามแดน การสู้รบ แรงงาน แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ก็จะตามมา หลายอย่าง หากยุติไม่ได้ ก็ต้องพูดคุยกัน

โดยทุกประเทศที่มาประชุม แสดงความเห็นด้วยว่าจะต้องมีการหารือกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันเท่านั้นเอง เป็นการแสวงหาทางออก และนำข้อเสนอเข้าไปในการประชุมของอาเซียนในครั้งต่อไปด้วย พร้อมย้ำว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยรับแรงกดดันสูงมาก เนื่องจากมีชายแดนติดกันกว่า 3,000 กิโลเมตร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top