ดีอีเอสเคาะ 21 ส.ค.-18 พ.ย.ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าข่ายกว่า 1 พันรายต้องมารายงานตัว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงภายหลังการประชุมทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 ส.ค. นี้ว่า ตามที่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามเกณฑ์ต้องมาแจ้งกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระหว่างวันที่ 21 ส.ค.-18 พ.ย. นี้ คือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการในระบบมากกว่า 5,000 ราย/เดือน มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท/ปีสำหรับนิติบุคคล และมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปีสำหรับแพลตฟอร์มของบุคคลธรรมดา

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องดำเนินการตามที่ พ.ร.ฎ.กำหนด เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีความก้าวหน้า ในช่วงนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นถึงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่จะมีมาตรการอย่างไร โดยจะจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันที่ 26 มิ.ย.66 เวลา 13.30 น.ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย

“ขอทำความเข้าใจว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การกำกับดูแลผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมาแจ้ง หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่มาแจ้งตามกำหนดเวลามีโทษจำคุก 1 ปี โทษปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายต้องมาแจ้ง คือแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นและแพลตฟอร์มเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกิจออนไลน์ สำหรับแพลตฟอร์มต่างประเทศต้องมีมาตรการดูแลผู้ใช้งาน สำหรับการดูแลผู้ใช้งานเป็นเรื่องที่แพลตฟอร์มจะต้องกำหนดมาตรการเอง

รมว.ดีอีเอส คาดว่าจะมีจำนวนแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายจดแจ้งประมาณ 1,000 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ แพลตฟอร์มกลุ่ม Social Media ที่เป็นแพลตฟอร์มแสดงความคิดเห็น อาทิ Facebook, Twitter, Tiktok, Google, Blockdit, Pantip เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มก็เป็น E-Commerce, E-service ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมาซื้อขาย ได้แก่ Shopee , Lazada รวมไปถึงแพลตฟอร์มขายรถมือสอง ขายบ้าน ขายพระเครื่อง โดยต้องกำกับดูแลไม่ให้มีการหลอกลวงกัน หรือซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย

ส่วนแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศก็ต้องมีตัวแทนจากประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน หรือรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และต้องมีระบบดูแลอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่มีขนาดเล็กรองลงมาก็จะดูแลกำกับในระยะถัดไป โดยตั้งเป้าให้แพลตฟอร์มที่ให้คนมาพบกันทั้งซื้อขายสินค้า หรือให้ความคิดเห็น เข้ามาแจ้งให้ครบภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้เพื่อต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน

“อย่างเรามีบริษัทเปิดเว็บไซด์ขายของออนไลน์โดยตรงกับประชาชนไม่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์ม หรือคนที่ขายของออนไลน์ หรือเป็น Youtuber เป็น Influencer ก็ไม่ต้องมาแจ้งการทำธุรกิจ เรากำกับดูแลเฉพาะแพลตฟอร์ม หรือ แอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซด์ ที่ให้คนมาเจอกัน จะมี User ต่างๆ ซึ่ง แพลตฟอร์มต้องไปกำกับดูแล User เอง มีการร้องเรียน มีการหลอกลวงกัน หรือทำผิดกฎหมาย”

ส่วนการยืนยันตัวตน ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อมีการหลอกลวงหรือฉ้อโกงกัน มาจากการยืนยันตัวตนที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน ทำให้ดำเนินคดีได้ยาก และมีคนร้าย มิจฉาชีพเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการยืนยันตัวตนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะกำกับดูแลตรงนี้ให้ดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top