“ดอยซ์แบงก์” จ่อปลดพนักงานธุรกิจลูกค้ารายย่อย จุดชนวนวิตกภาคธนาคารระส่ำ

ดอยซ์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของเยอรมนี ประกาศแผนการปลดพนักงานในธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) ในเยอรมนี โดยจะปรับลดลงในอัตราส่วน 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 17,000 ตำแหน่งในธุรกิจดังกล่าว

การประกาศแผนปลดพนักงานครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่นายเคลาดิโอ เดอ แซงค์ทิส จะเข้ามารับหน้าที่ดูแลธุรกิจลูกค้ารายย่อยในวันที่ 1 ก.ค.

ทั้งนี้ ดอยซ์แบงก์ได้แถลงต่อสาธารณะว่า ทางธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนต่อไป และจะปรับลดจำนวนพนักงานในหลายธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารสามารถรักษาการเติบโตของผลกำไรไว้ได้

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การปรับลดพนักงานในธุรกิจลูกค้ารายย่อยนั้น ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนและยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกับสหภาพและตัวแทนพนักงานของดอยซ์แบงก์ พร้อมระบุว่า ดอยซ์แบงก์จะจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นในบางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็จะปรับลดจำนวนพนักงานในบางธุรกิจ

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว

ที่ผ่านมานั้น ดอยซ์แบงก์ได้ประกาศแผนการปลดพนักงานหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยมีการปลดจริง โดยในปี 2562 ดอยซ์แบงก์ประกาศว่าจะปลดพนักงานจำนวน 18,000 ตำแหน่ง ตามแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ แต่ในท้ายที่สุดธนาคารก็ไม่ได้ปรับลดพนักงานตามแผนการดังกล่าวที่ประกาศไว้ เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ดอยซ์แบงก์ ซึ่งดำเนินการในเยอรมนีภายใต้แบรนด์ “โพสต์แบงก์” ด้วยนั้น ได้ตัดสินใจปิดสาขาธุรกิจลูกค้ารายย่อยกว่า 300 แห่งในเยอรมนีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันสาขาธุรกิจลูกค้ารายย่อยเหลืออยู่ประมาณ 1,000 แห่ง

ทั้งนี้ ธุรกิจลูกค้ารายย่อยของดอยซ์แบงก์เผชิญกับความยากลำบากเป็นเวลานานเนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของธุรกิจในภาคส่วนนี้เริ่มดีขึ้น หลังจากรายได้จากอัตราดอกเบี้ยฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

การประกาศแผนปลดพนักงานของดอยซ์แบงก์สะท้อนให้เห็นว่า ภาคธนาคารได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและนำไปสู่การเลิกจ้างงานไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศแผนปลดพนักงานในอัตราส่วน 30% หรือประมาณ 36,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการปรับลดพนักงานในครั้งเดียวที่มากที่สุดในโลก หลังจากยูบีเอสได้เข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่ง ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เป็นคนกลางในการทำข้อตกลง เพื่อป้องกันไม่ให้เครดิตสวิสล้ม และเพื่อกอบกู้วิกฤตศรัทธาที่กำลังลุกลามไปทั่วตลาดการเงินโลก

อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อกิจการเครดิตสวิสไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงเทกโอเวอร์กิจการนั้น ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งระบุมูลค่าหน้าตั๋วไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกตัดมูลค่าลงเหลือศูนย์ นอกจากนี้ ข้อตกลงยังกำหนดว่า ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีธนาคารล้มละลาย

เงื่อนไขดังกล่าวที่พ่วงมากับข้อตกลงเทกโอเวอร์กิจการเครดิตสวิส ส่งผลให้ตลาดการเงินเผชิญความโกลาหลเมื่อช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือ AT1 ของเครดิตสวิส ได้ยื่นฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ (Finma) หลังจาก Finma ได้ตัดมูลค่า AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิตสวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top