กรมประมง เร่งปรับสมดุลอุปสงค์-อุปทานกุ้งทะเล ส่งเสริมการตลาดในประเทศ

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากแนวโน้มราคากุ้งขาวแวนนาไม ที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นกังวล และตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่มาของการเกิดสถานการณ์ดังกล่าวไปหลากหลายแง่มุม ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น กรมประมงจึงขอแจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ดังนี้

ในช่วง 5 เดือนแรกของ ปี 66 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเล (กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ) จากการเพาะเลี้ยง ปริมาณรวมทั้งสิ้น 100,600.45 ตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 8.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูล ปี 60-65 พบว่า ประเทศไทยจะมีผลผลิตกุ้งทะเลออกสู่ตลาดสูงในช่วงเดือนพ.ค.-พ.ย. โดยราคากุ้งจะตกต่ำ 2 ช่วง ในรอบปี คือ ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. และช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การผลิตและราคากุ้งโลกในช่วงครึ่งปี 66 พบว่า การผลิตกุ้งของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักของโลก มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะผลผลิตกุ้งมากเกินความต้องการของประเทศผู้ซื้อ หรือภาวะ Over supply ของผลผลิตกุ้งในตลาดโลก และทำให้ราคากุ้งในประเทศเอกวาดอร์ รวมถึงตลาดโลกลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 66 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตกุ้งของประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง อินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากปริมาณกุ้งในสต๊อกยังมีเพียงพอต่อการบริโภค จนกว่าสินค้าในสต๊อกจะได้รับการระบายออกสู่ตลาดจึงจะเริ่มคำสั่งซื้อใหม่ ประกอบกับภาวะเศรฐกิจตกต่ำ และภาวะเงินเฟ้อ ของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าราคาถูก สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ราคาขายกุ้งในตลาดโลก และราคาขายกุ้งภายในประเทศผู้ผลิตหลักทั่วโลกมีราคาลดต่ำลง

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ราคากุ้งตกต่ำยังคงเป็นวัฏจักรที่พบได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ความรุนแรงของผลกระทบอาจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดผู้รับซื้อหรืออุปสงค์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ผลผลิตกุ้งหรืออุปทานมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งควรหารือร่วมกับผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป เพื่อวางแผนการผลิตกุ้งให้ได้ขนาด ปริมาณ และมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต โดยลดต้นทุนพลังงาน

เช่น การใช้โซล่าร์เซลล์ การใช้จุลินทรีย์หรือการปรับรูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มทดแทนการใช้ยาและสารเคมี การปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสม เพื่อลดความเสียหายระหว่างการเลี้ยง และการให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหารแล้ว ยังลดการสะสมของเสียในบ่อเลี้ยง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่เป็นต้นทุนแฝงในการเลี้ยงกุ้งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศผู้นำเข้าจะชะลอคำสั่งซื้อ แต่หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมและโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้งภายในประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกุ้งให้แก่เกษตรกร โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 66 คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เห็นชอบให้กรมการค้าภายในดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ตามมาตรการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายสำหรับการบริโภคภายในประเทศ โดยให้การสนับสนุนค่าชดเชยราคากุ้งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตรากิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท และค่าบริหารจัดการในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาด อาทิ ค่าจัดการด้านขนาดและคุณภาพ ค่าเก็บรักษา ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหรือผู้รวบรวมที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตรากิโลกรัมละ ไม่เกิน 10 บาท โดยมีปริมาณเป้าหมาย 5,000 ตัน ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่

กรมประมง เน้นย้ำว่า แม้ว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งโลกในปัจจุบันอาจไม่สู้ดีนัก และการกู้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก แต่หากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร ตลอดจนสถาบันการศึกษา ร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการส่งเสริมการผลิตกุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เชื่อได้ว่าจะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและธุรกิจเกี่ยวเนื่องสืบต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top