“ก้าวไกล-เพื่อไทย” ตกลงเสนอ “วันนอร์” เป็น ปธ.สภาฯ สร้างเอกภาพหนุน “พิธา” เป็นนายกฯ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย เรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดย 2 พรรค มีข้อตกลงร่วมกันที่จะเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นของพรรคก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นของพรรคเพื่อไทย

โดยข้อตกลงดังกล่าวนี้ เป็นไปเพื่อสร้างเอกภาพของ 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตาม MOU ของ 8 พรรคที่ทำร่วมกันไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66

สำหรับข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ฉบับเต็ม ระบุว่า

ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น

บัดนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้

1. เสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ทั้งนี้ พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

2. บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน

3. ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

4. พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การเสนอชื่อนายวันนอร์ เป็นทางออกให้ดีให้กับ 2 พรรค และน่าจะทำให้บรรยากาศทำงานดีขึ้น และยังมั่นใจ เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ และรักษาความเป็นเอกภาพของ 8 พรรครัฐบาลมากขึ้น โดยได้แจ้งมติเรื่องนี้ให้อีก 6 พรรค ซึ่งทุกพรรคเห็นด้วยและเข้าใจ และโหวตร่วมกัน และเชื่อว่า การเสนอชื่อพรุ่งนี้จะราบรื่น ได้มีการกำชับส.ส.ของพรรคไม่ให้แตกแถวแล้ว

ส่วนที่พรรคก้าวไกลพลาดตำแหน่งประธานสภา อาจมีผลต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายพิธา มองว่า วันนี้เป็นนิมิตรใหม่ที่ดี ทำให้เห็นเอกภาพทำให้เห็นความประนีประนอม การเสียสละในการที่จะทำให้ถึงเป้าหมายที่สำคัญคือการส่งตนไปเป็นนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

สำหรับการทาบทามนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นั้น นายพิธา กล่าวว่า เมื่อวานได้ส่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ไปคุยกับ นายวันมูหะมัดนอร์ ที่บ้านและวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายวันนอร์ฯและได้อ่านคำแถลงให้ฟังแล้วและนายวันนอร์ฯเห็นด้วยและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรองประธานคนที่ 1 ของคนที่ 2 โดยเราเน้นในเรื่องของหลักการเป็นหลัก

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์จะผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างไร เพราะเคยบอกว่าขัดหลักศาสนา นายพิธา กล่าวว่า ได้พูดคุยแล้วเป็นกระบวนการของรัฐสภากับกฎหมายอื่นๆ แต่ในส่วนของพรรคประชาชาติก็จะสงวนในเรื่องการลงมติหรือการพิจารณา หรือให้รองคนอื่นที่สามารถดูแล วาระการประชุมอะไรก็แล้วแต่ ทั้งนี้ มั่นใจว่าส.สเพื่อไทยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่าง 2 พรรค

ส่วนโควต้ารัฐมนตรีจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นกระบวนการต่อไป ที่ยังต้องเจรจาต่อไปและคงเป็นไปตามหลักการตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรค

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เสียงส.ส.ไม่พอที่จะโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะประสานเสียงส.ว.อย่างไรนั้น นายพิธา กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ต่างจากที่ทำมา ตอนแรกก็จะมีกำแพงแต่ยังเชื่อว่าถึงเวลา ถ้าฟังเสียงส.ว.ส่วนใหญ่ ถ้ายึดหลักการตามปี 2562 และคราวนี้รวมกันได้ 312 เสียง หากยึดตามหลักการตรงนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องของบรรทัดฐานและหลักการ ถ้ายึดเอาประชาชนและประเทศเป็นตัวตั้งเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา

นายพิธา ยืนยันว่า ในการโหวตนายกรัฐมนตรีจะมีเสนอชื่อตนเพียงคนเดียว และมีเตรียมแผนไว้แล้ว หากคะแนนเสียงไม่ถึง แต่ยังเชื่อว่า จะได้เสียงสนับสนุนจนสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และย้ำว่า เชื่อใจในพรรคเพื่อไทย แม้ที่มีผ่านมาจะมีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลต่างๆ เป็นกระแสข่าวออกมาก็ตาม

ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความมั่นใจว่า ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จะปฏิบัติตามข้อตกลง และจะไม่มีส.ส.ของพรรคเสนอรายชื่อส.สของเพื่อไทยแข่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน และมั่นใจว่าคนของพรรคอื่นไม่สามารถเสนอชื่อส.ส.เพื่อไทยมาแข่งตำแหน่งประธาน รวมทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวว่า ได้หารือกับนายวันนอร์ ว่าถ้าหากจะให้ทุกอย่างราบรื่นจะต้องมีคนกลางเข้ามาช่วยจะดีขึ้น ซึ่งได้แจ้งกับนายวันนอร์ไป แต่ตอนแรกนายวันนอร์ฯไม่ประสงค์ที่จะเป็น และเห็นว่าหากคุยให้จบได้ ภายในวันที่ 4 ก.ค.จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งหากตกลงกันได้จึงกลับมาคุย ซึ่งสองฝ่ายก็เห็นว่าน่าจะเป็นทางออกได้ และคิดว่าจะเป็นทางออกที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่เป็นการจับมือกันเพื่อให้รัฐบาลประชาธิปไตยไปได้ด้วยดีและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว

สำหรับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ เป็น ส.ส.และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย ที่สำคัญเคยเป็นประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่เป็นชาวไทยมุสลิม

นายวันนอร์ เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวาดะห์ โดยในปี 2522 ได้เป็น ส.ส.ยะลา เป็นสมัยแรก ก่อนจะย้ายไปเข้าพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และพรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ ก่อนจะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา

ต่อมาย้ายไปเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย ตำแหน่งสุดท้ายในพรรคไทยรักไทยเป็นรองหัวหน้าพรรค จากนั้นนายวันนอร์ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง นายวันนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติและในฐานะหัวหน้าพรรค ก่อนจะมาสู่การเลือกตั้งครั้งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top