กทม.-สปสช. เดินหน้า 3 แนวทางดูแลสุขภาพคนกรุง เปิดลงทะเบียนประชากรแฝงใช้สิทธิบัตรทอง

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่

1. เตรียมคลินิกชุมชนอบอุ่น 276 แห่ง รองรับประชากรแฝงกว่า 7 แสนราย ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้าน ใกล้ใจ

2. เจาะเลือดใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกประชาชน คาดเริ่มได้สิงหาคมนี้

3. ส่งเสริมใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากรหนาแน่น ซึ่งตามทะเบียนบ้านอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคน และยังมีประชากรแฝงอีกจำนวนมาก ทั้งที่เข้ามาทำงาน มาเรียน หรือพักอาศัย ซึ่งความแตกต่างระหว่างข้อมูลประชากรตามทะเบียนบ้านกับประชากรที่มีอยู่จริงทำให้กระทบกับการจัดสรรทรัพยากรและส่งผลให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ การจัดระบบดูแลสุขภาพจึงต้องมีความจำเพาะพิเศษ เราได้พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะการที่กรุงเทพมหานครจะเป็น Smart City ได้ หัวใจคือต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เราบริหารจัดการได้ดี และส่งผลให้เมืองฉลาดขึ้น

จากการหารือร่วมกับ สปสช. หลายครั้งพบว่า การจะให้ประชาชนย้ายทะเบียนบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการย้ายหรือไม่ย้ายเป็นสิทธิของประชาชนตัดสินใจ แต่เรื่องสุขภาพ เรื่องบัตรทอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจและทำได้เร็วกว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้คนที่เป็นประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ลงทะเบียน ให้เราได้ทราบว่าตัวตนของประชาชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เพราะจริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในแง่ปฐมภูมิ คือ เป็นด่านแรกที่ผู้ป่วยจะเข้ามาหา หากเรารู้ว่ามีผู้ป่วยที่แท้จริงเท่าไร บัตรทองเท่าไร ประกันสังคมเท่าไร ข้าราชการเท่าไร ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูล งบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้ประชากรแฝงที่อยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 7 – 8 แสนคน ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยจะได้สามารถส่งต่อผ่านระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เกิดการลงทะเบียนคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เชื่อว่าคงจะมีการปรับปรุงรายละเอียดในการดำเนินการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเป็นลำดับต่อไป

ในส่วนของแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การเปิดให้ประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใกล้ที่ทำงาน ที่เรียน หรือตรงตามที่พักอาศัย เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้าน ใกล้ใจ โดย สปสช. ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น 276 แห่ง ไว้รองรับ รวมถึงมีโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อดูแลประชาชนในพื้นที่ และในส่วนของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักอนามัยได้เตรียมความพร้อมศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็น Area Manager จัดระบบบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดนวัตกรรมบริการตรวจใกล้บ้านหรือเจาะเลือดใกล้บ้าน เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่ง สปสช.จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมนี้

และการส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เช่น ค้นหาผู้มีภาวะพึ่งพิงป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากกองทุนฯ หรือการใช้งบประมาณเพื่อด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชุมชน เช่น กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่และเด็ก การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย เป็นต้น

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดทำนโยบายเพื่อยกระดับบริการสุขภาพให้กับประชาชน อาทิ การขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง (Home ward) หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine รถตรวจสุขภาพเชิงรุก หรือ Mobile Medical Unit ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดีผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล เป็นต้น ซึ่งนโยบายและสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพตามนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จได้อีกด้วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้คนทุกคนที่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้มีสิทธิรับบริการทางสุขภาพ เป็นนโยบายที่ทาง สปสช. เห็นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาบางประการ คือ ประชาชนที่อยากลงทะเบียน ไม่มีที่ให้ลง เช่น คนต่างจังหวัดที่ทำงานในกรุงเทพฯ เพียงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากจะขอความร่วมมือจากงประชาชนในกลุ่มนี้ไปลงทะเบียนที่คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 276 แห่ง ใกล้บ้าน ซึ่งเมื่อลงทะเบียนแล้วท่านจะเป็นผู้มีสิทธิและสามารถใช้สิทธิในกรุงเทพมหานครได้ โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือเปิดแอปพลิเคชัน ThaiD มาเป็นหลักฐานแสดงตัวตนเพื่อขอลงทะเบียน ทั้งนี้ หากประชาชนมีการย้ายที่อยู่บ่อย ใน 1 ปี สามารถเปลี่ยนได้ 4 ครั้ง โดยรองรับการเปลี่ยนทั่วประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top