ฟิทช์คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ “BBB+” จับตาการเมืองไม่แน่นอนถ่วงเครดิต

บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์เปิดเผยรายงานผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.) ระบุว่า ฟิทช์คงอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทย (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating – IDR) ที่ BBB+ โดยมุมมองมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

ทั้งนี้ ฟิทช์เปิดเผยว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยนั้นพิจารณาจากสถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งและกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อ่อนแอต่าง ๆ เช่น รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลและคะแนนด้านธรรมาภิบาลจากธนาคารโลกที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในอันดับ BBB ด้วยกัน ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองถ่วงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นในระยะใกล้ หลังรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางประชากรศาสตร์อาจเพิ่มความท้าทายต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง รวมถึงแผนการสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง

ฟิชท์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของไทยจะเติบโต 3.7% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวแบบเป็นวงกว้างของภาคการท่องเที่ยวจากตลาดสำคัญ ๆ ควบคู่ไปกับการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง เนื่องจากตลาดแรงงานกระเตื้องขึ้นแบบต่อเนื่อง ท่ามกลางการกำหนดนโยบายที่ยังคงเป็นไปในเชิงสนับสนุน อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยจะเผชิญอุปสรรคต่อไป เมื่อพิจารณาถึงอุปสงค์โลกและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคุมเข้มนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ฟิทช์คาดการณ์ว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนสู่ประมาณ 29 ล้านรายในปี 2566 จาก 11.2 ล้านรายในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับเกือบ 3 ใน 4 ของช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด โดยแนวโน้มการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของไทยดีขึ้นจากการที่จีนกลับมาเปิดประเทศ การฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาดในภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจระยะใกล้และนโยบายการคลังของไทยจะเผชิญปัญหาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. โดยไทยมีกำหนดจัดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.นี้ แต่กำหนดการที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้าบริหารประเทศนั้นยังไม่แน่นอนอย่างยิ่ง ไทยอาจเผชิญปัญหาด้านการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยืดเยื้อออกไปหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ฟิชท์เชื่อว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล

ฟิทช์ระบุเสริมว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสังคมและนำไปสู่ภาวะติดขัดด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณสำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนก.ย. 2567 แม้กรณีดังกล่าวจะไม่ใช่สมมุติฐานหลักของฟิทช์ก็ตาม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top