ส.ว. เล็งตีตกเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนั่งเก้าอี้นายกฯ ซ้ำรอบสอง

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เชื่อว่า บรรดา ส.ว.มีดุลยพินิจที่จะลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้อยู่แล้ว แม้ ส.ส.จะมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ แต่ ส.ว.ก็มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ จึงต้องฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อมูลการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภา และข้อมูลทางคดีที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

“เชื่อว่า ส.ว.จะใช้ดุลยพินิจได้อย่างดี แต่ผลโหวตจะออกมาอย่างไรรอดูวันที่ 13 ก.ค.” นายสมชาย กล่าว

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.ออกไปก่อน เพื่อรอให้มีความชัดเจนถึงการตีความคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เรื่องการถือหุ้นสื่อนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไร จะมีความกังวลถึงขั้นให้เลื่อนโหวตนายกฯ หรือไม่ ต้องรอฟังข้อมูลการอภิปรายจนถึงเวลา 17.00 น. วันที่ 13 ก.ค. 66 จึงจะลงมติโหวตนายกฯ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่กังวลดังกล่าว

“กระแสข่าวจะมี ส.ว.งดออกเสียง 90% ในการโหวตนายกฯ นั้นยังไม่ทราบ เพราะบางฝ่ายก็บอกว่ามีเสียงเพียงพอ การโหวตของ ส.ว.ต้องคำนึงว่าถ้าพาประเทศรุ่งเรืองก็เห็นด้วย แต่ถ้าเลือกแล้วพาประเทศวิกฤต เปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ก็ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. 250 คน ต้องร่วมรับผิดชอบในการโหวต ส่วนตัวมีความไม่สบายใจในหลายประเด็น ทั้งการแก้ไขมาตรา 112 แม้สุดท้ายนายพิธา ยืนยันจะไม่แก้ไข แต่ต้องถามสมาชิกพรรคก้าวไกลที่เหลือ และเครือข่ายว่าคิดแบบเดียวกันหรือไม่” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวถึงข้อกังวลของ ส.ว.ที่ไม่ให้นำชื่อนายพิธา มาโหวตซ้ำเป็นรอบที่สอง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาในการโหวตรอบแรก วันที่ 13 ก.ค.ว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการเสนอชื่อโหวตซ้ำรอบสอง แต่ ส.ว.ก็กังวลใจ หากจะให้โหวตไปได้เรื่อยๆ จึงหยิบเรื่องนี้มาหารือกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่มองว่าเป็นเรื่องที่มีประเด็น หากโหวตครั้งแรกไม่ได้แต่มาได้เสียงเห็นชอบตอนโหวตครั้งที่ 2 แล้วมีคนไปยื่นตีความว่า การเสนอชื่อโหวตซ้ำ 2 รอบทำไม่ได้ หากปล่อยให้ทำหน้าที่ไปสัก 3 เดือน แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระทำไม่ได้ จะทำให้การประชุมที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่ จะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่

“หากในที่สุด ชื่อนายพิธา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา แล้วมีการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องไปตกลงกัน จะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส.ว.ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย” นายสมชาย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top