ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัล Q2/66 ฟื้นต่อเนื่องตามภาพรวมศก. แนะรัฐส่งเสริมแหล่งทุน-พัฒนาคน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

รวมถึงนโยบายเปิดประเทศของจีนที่ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลง แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้ผู้ประกอบการและคู่ค้าหลายรายชะลอแผนธุรกิจ ชี้ผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ผลักดันให้เข้าถึงแหล่งทุน เร่งสร้างกำลังคนดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน และออกมาตรการจูงใจบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลศักยภาพสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 2 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวรและอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.0 ของไตรมาสแรกและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยปัจจัยด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน และด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุนเพื่อประกอบการปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกันนี้ นโยบายการเปิดประเทศของจีนยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของกิจการในประเทศลดลง โดยเฉพาะราคาชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกัน ปัจจัยฉุดรั้งคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยผู้ประกอบการและคู่ค้าหลายรายชะลอแผนธุรกิจเพื่อรอดูท่าทีการประกาศนโยบายของรัฐบาลใหม่

หากแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 54.6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 52.1 และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.4 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลับมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ 46.8 ในไตรมาสนี้

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดภาครัฐ และประเด็นสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการออกมาตรการจูงใจบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลศักยภาพสูง (Talent) จากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top