สรท.หวังเร่งตั้งรัฐบาลอัดงบกิจกรรมกระตุ้นส่งออก ลุ้นขยายตัวเป็นบวก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งต้องรอลุ้นว่าช่วงครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบเร่ง โดย สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ตามเดิมว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ -0.5 ถึง 1% หรือมีมูลค่าการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 285,600-290,000 ล้านดอลลาร์

“ถ้าการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่เหลือสามารถรักษายอดเอาไว้ให้ได้เท่าเดือนมิถุนายนที่ระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกปีนี้โตเท่าปีก่อน แต่ถ้าน้อยกว่านั้นก็ติดลบ และถ้ามากกว่านั้นก็เป็นบวก…หากเดือนกรกฎาคมยังมีโมเมนตัมต่อเนื่องอาจเห็นตัวเลขเป็นบวก” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

– ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ฝั่งตะวันออกและตะวันตกส่งผลอย่างยิ่งต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

– เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวแบบชะลอลงและฟื้นตัวแบบหน่วง เช่น ตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน

– อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ระบบการเงินมีแนวโน้มสภาพคล่องลดลงและการปล่อยสินเชื่อตึงตัวขึ้น

– ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ คำไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย

– ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรในช่วงปลายปี

“ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐ อียู และจีน ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 40% ยังไม่ฟื้นก็ต้องแสวงหาตลาดใหม่เพิ่มเติม ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันมากขึ้น…ปัญหาเอลนีโญเป็นโจทย์ใหญ่ของการส่งออกที่ต้องมีการหารือเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ” นายชัยชาญ กล่าว

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย

– เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนกิจกรรมการส่งออกในครึ่งปีหลัง รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีสเถียรภาพ และเร่งหาตลาดใหม่เพิ่มเติม

– ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งบริหารจัดการลดผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อการเจรจาทางการค้ากับคู่ค้า โดยอาจเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงต้องเร่งการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการของภาคการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับมาตรการทางค้าใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

– ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

– ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

– ภาคเอกชน ควรเร่งพัฒนาและปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตจนถึงส่งมอบสินค้า

– ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งแสวงหาช่องทางหรือรูปแบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และยกระดับประสิทธิภาพและโลจิสติกส์ให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งข้นทางการค้า

โดยในช่วงครึ่งปีหลัง สรท.ตั้งสมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-92 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าระวางมีทิศทางคงที่เท่ากับช่วงครึ่งปีแรก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top