จับตาศก.จีน-เอลนีโญ-ค่าแรง-ค่าเงิน ความเสี่ยงส่งออกสินค้าเกษตรไทย

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะข้างหน้า การส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไทย ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักเติบโตต่ำกว่าคาด, ปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ, แรงกดดันด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า รวมถึงความท้าทายจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ

โดยล่าสุด ในช่วงไตรมาส 2/66 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร อยู่ที่ 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (470,427 ล้านบาท) กลับมาหดตัว -6.3% หลังจากที่ขยายตัว 1.8% ในไตรมาส 1 โดยสินค้าที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

Krungthai COMPASS มองว่า แม้การส่งออกไปจีน จะได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงจากการเร่งสต็อกสินค้าในปีก่อน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบาง ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 กลับมาหดตัว

สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2566-2567

ข้าว :

ปี 2566 คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 7.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.5% โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย และปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตลาดอิรักที่เพิ่มขึ้น ส่วนในปี 2567 คาดว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 7.7 ล้านตัน หรือลดลง -2.2% โดยแม้ว่าสต็อกข้าวจะยังคงมีเพียงพอสำหรับการส่งออก แต่คาดว่าราคาข้าวสารไทยยังคงแข่งขันได้ลำบาก จากต้นทุนข้าวสารในประเทศที่สูงขึ้น เพราะปัจจัยเอลนีโญที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังเสียหายพอสมควร และที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว

สำหรับนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย แม้เบื้องต้นประเมินว่าจะส่งผลบวกต่อไทย แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในมิติของระยะเวลาที่ประกาศใช้ ซึ่งหากในอนาคต อินเดียมีการประกาศยกเลิกนโยบายดังกล่าว อาจส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดส่งออกปรับลดลงเร็ว เพิ่มความเสี่ยงขาดทุนสต็อกต่อโรงสีและผู้ส่งออกข้าวไทย ที่สต็อกข้าวไว้ในช่วงที่ราคาสูง

ยางพารา :

ปี 2566-2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่ง จะอยู่ที่ 0.75 แสนล้านบาท และ 0.64 แสนล้านบาท หรือลดลง -45.0% และ -15.0% โดยเป็นผลจากราคาส่งออกที่คาดว่าจะลดลง -13.5% และ -4.7% เนื่องจากผลผลิตยางพาราโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการใช้ และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง

ส่วนปริมาณส่งออกลดลงเป็น 1.66 ล้านตัน และ 1.49 ล้านตัน หรือหดตัว -31.5% และ -10.3% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนที่อาจชะลอตัว จากภาคการผลิตยานยนต์ในจีนที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

มันสำปะหลัง :

ปี 2566-2567 แม้ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนจะเพิ่มขึ้น จากสต็อกข้าวโพดจีนที่มีทิศทางลดลง ทำให้ราคาข้าวโพดจีนแพงกว่าราคาส่งออกมันสำปะหลังของไทยค่อนข้างมาก จึงจูงใจให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องในจีนนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเพื่อทดแทนการใช้ข้าวโพดในประเทศ แต่ผลผลิตมันสำปะหลังไทย อาจไม่เพียงพอต่อการส่งออก เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในไทยในช่วงปลายปี 2565 ส่งผลให้ท่อนพันธุ์เสียหายและขาดแคลน ทำให้ในปี 2566 เนื้อที่เก็บเกี่ยวจะลดลง อีกทั้งปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังได้รับความเสียหาย

ดังนั้น จึงคาดว่าในปี 2566-2567 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทย จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน และ 5.6 ล้านตัน หรือหดตัว -4.0% และ -2.0% ตามลำดับ ส่วนปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังของไทย จะอยู่ที่ 4.2 ล้านตัน และ 4.0 ล้านตัน หรือหดตัว -15.0% และ -5.0% ตามลำดับ

ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง :

ปี 2566-2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้สด จะอยู่ที่ 238,481ล้านบาท ขยายตัว 23.7% ส่วนผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง จะอยู่ที่ 264,723 ล้านบาท ขยายตัว 11.0% โดยเฉพาะตลาดจีน (สัดส่วน 84% ของมูลค่าส่งออกรวม) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับความต้องการบริโภคผลไม้ไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งคาดว่าการส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า การส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่มากขึ้น ภายหลังเวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้แล้ว ขณะที่มาเลเซียรุกขยายตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตทุเรียนของจีนที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ

ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป :

ปี 2566-2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จะอยู่ที่ 156,165 ล้านบาท ขยายตัว 10% ส่วนไก่สดแปรรูป จะอยู่ที่ 166,784 ล้านบาท ขยายตัว 6.8% เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) ยังขยายตัว เพราะได้อานิสงส์จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ขณะที่การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น

สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปยังซาอุดิอารเบีย เนื่องจากซาอุฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าไก่รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ประกอบกับภาครัฐของไทย มีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไก่ ซึ่งเป็นไก่ฮาลาล ไปยังซาอุฯ เพิ่มขึ้น หลังจากการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในระยะข้างหน้า มีปัจจัยต้องติดตามใกล้ชิดดังนี้

1. เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทย เติบโตต่ำกว่าคาดอาจฉุดการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ยังอ่อนแอ จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีน เช่น ยางพารา

2. ปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ มีแนวโน้มจะทำให้ฝนแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และทำให้ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจอาหารแปรรูป

3. แรงกดดันด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และอาจกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว

5. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ธุรกิจเกษตรและอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจับตาในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นภาคที่มีส่วนทำให้เกิด Climate Change โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top