เตือนระวังถูกหลอกคืนประกันมิเตอร์ กกพ.ยันแจ้งเป็นเอกสารเท่านั้น ไม่มี SMS-Line

จากกรณีดาราสาวถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นการไฟฟ้า ติดต่อเพื่อคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า หรือค่าประกันมิเตอร์ แต่ท้ายสุดถูกหลอกจนสูญเงิน 2 แสนบาทนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ มีเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทที่ยังตกค้างอยู่ 7.3 หมื่นล้านบาทจริง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ส่งเงินคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 และ 2 ซึ่งเป็นบ้านอยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 ระบาด ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 จนถึง มิ.ย. 66 มีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยื่นขอรับคืนเงิน 8 ล้านกว่ารายจากทั้งหมด 24 ล้านราย สามารถส่งคืนเงินได้ 1.7 หมื่นล้านบาท จากยอดทั้งหมด 3.3 หมื่นล้านบาท ยังเหลืออยู่อีก 1.6 หมื่นล้านบาทที่ต้องเร่งส่งคืน

นายวัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ใช้ไฟฟ้า 2 ใน 3 หรือประมาณ 15 ล้านราย ไม่มาขอรับเงินคืน เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นคู่สัญญาเสียชีวิต หรือขายบ้านโดยไม่ได้โอนชื่อ ทำให้ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ขอคืนไม่ได้ หรือบางคนยังเป็นเจ้าของมิเตอร์แต่ไม่มารับ

ดังนั้น สำนักงาน กกพ. จะเร่งหาทางส่งคืนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทให้ครบถ้วนโดยเร็ว โดยขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์ รีบติดต่อการไฟฟ้าโดยตรงเพื่อขอคืนเงิน และป้องกันไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้เป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน ด้วยวิธีการส่งข้อความหลอกลวงผ่านทาง SMS หรือ LINE ที่มีการสแกนคิวอาร์โค้ด

ขณะที่ยังมีเงินค่าประกันไฟฟ้าอีก 6 หมื่นล้านบาท ของกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลาง ใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง หรือประเภท 3 , 4 และ 5 รวม 1 แสนราย ซึ่งจะต้องส่งคืนเป็นลำดับต่อไป

“สำนักงาน กกพ.จะต้องเร่งคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าประเภท 1 และ 2 ให้เสร็จสิ้น โดยขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน โปรดตรวจสอบสิทธิและลงทะเบียนขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบที่การไฟฟ้าฯ จัดเตรียมไว้ให้ และ สำนักงาน กกพ. จะขอให้การไฟฟ้าฯ แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเอกสาร โดยให้ส่งไปพร้อมกับบิลค่าไฟฟ้า เพื่อปิดช่องทางมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์ หรือออนไลน์หลอกลวงประชาชน” นายวัลลภ กล่าว

พร้อมย้ำเตือนผู้ใช้ไฟฟ้าว่า หากมีโทรศัพท์หรือ SMS หรือ LINE แจ้งว่า จะส่งคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าค้าง โปรดอย่าหลงเชื่อ หากสงสัยให้ โทรศัพท์สอบถามสายด่วนของ กฟภ. 1129 กฟน. 1130 และ สำนักงาน กกพ. 1204 หรือ อีเมล์ [email protected]

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top