ภาครัฐจับมือเอกชน หนุนโอกาส SME เข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวเปิดงาน “SME-GP DAY : รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย” ว่า ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถือเป็นโอกาสทางการตลาดขนาดใหญ่ในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) แต่ที่ผ่านมา ยังเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ไม่มากนัก

ด้วยเหตุนี้ สสว.จึงได้จัดเตรียมระบบทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) เพื่อให้ได้เข้ามาลงทะเบียนกิจการ และสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน มากกว่า 1 ล้านรายการ ซึ่งถือเป็นแหล่งสินค้าและบริการขนาดใหญ่ ที่หน่วยงานภาครัฐจะได้ร่วมกันสนับสนุน อันจะเป็นฟันเฟืองหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“การจัดงาน SME-GP Day ในวันนี้ ได้ตั้งเป้าที่จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดอุปสรรคต่างๆ ของ SME ผ่านการเชื่อมโยงคู่ค้าและพันธมิตร จึงขอเชิญชวนผู้แทนส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมงาน เพื่อจะได้ทราบว่าแผนงานการจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดไว้นั้น จะมีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่มาร่วมจัดแสดงสินค้าและบริการ มีคุณสมบัติสอดคล้องกับแนวทางของท่าน เพื่อร่วมกันผลักดันการเชื่อมโยงคู่ค้าและพันธมิตร และก่อให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้จริง”

นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับเป็นช่องทางการตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากถึง 1.17 ล้านล้านบาทต่อปี ผลการดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

โดยในปีงบประมาณ 2565 พบว่าหน่วยงานของรัฐ สามารถจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SME ได้รวม 481,831 ล้านบาท จากเงินที่จัดซื้อจัดจ้างรวม 1,167,798 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.26% โดยปัจจุบันมี SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP แล้ว 152,331 ราย เป็นสินค้าและบริการรวม 1,127,533 รายการ

สำหรับในปี 2565 สสว.ได้ยกระดับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานของรัฐ โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปให้มีการกระจายในระดับพื้นที่จำนวน 1,500 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมมุ่งเป้าสำหรับสินค้าและบริการที่มีความยากในการผลิตและต้องใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสูง เพื่อลดการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ได้ออกแบบงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อ SME โดยจัดกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องมือช่าง เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สินค้าและบริการด้านการแพทย์ สินค้าและบริการด้านดิจิทัล และสินค้าที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand

นอกจากโอกาสทางการค้าและได้จับจ่ายซื้อของภายในงานแล้ว ยังมีบริการต่างๆ จาก สสว. เพื่อให้บริการผู้ประกอบการตลอด 3 วัน อาทิ การบริการขึ้นทะเบียน THAI SME-GP และ SME ONE ID การบริการสนับสนุนค่าใช้จ่ายพัฒนาธุรกิจภายใต้โครงการ BDS (SME ปังตังได้คืน) การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ยังจะได้รับความรู้และความบันเทิงตลอด 3 วัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถานการณ์ SME การอัปเดตเทรนด์การตลาดปี 2567 การบริหารต้นทุนในกิจกรรมสำหรับ SME การวางฮวงจุ้ยอย่างไร ให้ออฟฟิสปัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top