AAV จับจังหวะดีมานด์เดินทางฟื้นแกร่งลุยเพิ่มเส้นทางบิน-ความถี่ดันมาร์เก็ตแชร์พุ่ง

บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งถือหุ้นในสายการบินไทยแอร์เอเชีย กางแผนเพิ่มเส้นทางบิน และเพิ่มความถี่ เป้าหมายแรกมุ่งหน้ากลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด ตอบรับความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมแผนสำรองเสริมฝูงบินรองรับหากดีมานด์ปลายปีสูงเกินคาด มั่นใจผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งแรกแน่ ย้ำเป้ารายได้ 4.2 หมื่นล้านบาท และยอดผู้โดยสารแตะ 20 ล้านคน แต่ยอมรับทั้งปีจะกำไรหรือขาดทุนขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/66 และไตรมาส 2/66 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าไตรมาส 3/66 และไตรมาส 4/66 จะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มความต้องการเดินทางในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งจนทำให้ปัจจัยเรื่องฤดูกาลไม่มีผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารเหมือนกับในอดีต

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ของเส้นทางในประเทศสูงถึง 94% และส่วนแบ่งตลาดของไทยแอร์เอเชียสำหรับเส้นทางในประเทศพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 37% และไตรมาส 3/66 คาดว่าน่าจะพุ่งไปถึง 40% ขณะที่เส้นทางต่างประเทศมี Load Factor ที่ 83% ในช่วงครึ่งปีแรก

ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจว่าในปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะมีจำนวนผู้โดยสาร 20 ล้านคนตามเป้าหมาย และ Load Factor พุ่งแตะ 87% แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 94-95% และเส้นทางต่างประเทศ 85% ทำให้รายได้ปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย 4.2 หมื่นล้านบาท กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่ติดลบ 1,277.9 ล้านบาท โดย AAV สามารถทำ EBITDA เป็นบวกได้ 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว (ไตรมาส 4/65-ไตรมาส 2/66)

ขณะที่นายสันติสุข มองว่า ช่วงครึ่งปีหลังตลาดในประเทศจะยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนไทยเที่ยวในประเทศมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศ ไทยแอร์เอเชียจะเพิ่มความถี่ให้กลับมาเหมือนเดิม อาทิ ฮ่องกง มาเก๊า จะกลับมาบิน 5 เที่ยวบิน/วัน จากปัจจุบันบิน 3 เที่ยวบิน/วัน และจะกลับมาบินให้ได้เท่าเดิมก่อนโควิด

ส่วนจีน ทยอยเปิดบินกลับมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเพิ่มเป็น 108 เที่ยวบินต่อสัปดาห์แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 67 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในไตรมาส 1/66 และคาดว่าในปลายปีนี้ก็น่าจะเพิ่มไปที่ 138 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เทียบเท่าก่อนโควิด ซึ่งปัจจุบันบินไปยัง 11 เมือง 18 เส้นทางบิน ได้แก่ เซินเจิน, กวางโจว, เฉิงตู , ฉงชิ่ง, คุณหมิง, อู่ฮั่น, ฉางซา, หางโจว, ซีอาน, ปักกิ่ง และกลับมาบินเมืองซัวเถา ในวันที่ 29 ต.ค.นี้

สำหรับอินเดีย มี 8 เส้นทางบิน โกลกัลตา , เชนไน, ชัยปุระ, โกชิ, คยา, ลัคเนา, อัห์มดาบาด (เมื่อ 10 ต.ค.) และเตรียมเปิดจุดบินใหม่อีก 1 เมืองในปลายปีนี้

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ ขณะนี้บินสูงสุดอยู่ที่ 630 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 21 จังหวัด 32 เส้นทางบิน ส่วนเส้นทางต่างประเทศให้บริการรวม 438 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 16 ประเทศ 52 เส้นทาง ด้านเส้นทางบินข้ามภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศมีทั้งหมด 8 เส้นทาง รวม 67 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ได้แก่ เชียงใหม่ -หาดใหญ่ เชียงใหม่-สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่-ภูเก็ต เชียงใหม่-กระบี่ เชียงใหม่-ขอนแก่น เชียงใหม่-หัวหิน ภูเก็ต-ขอบแก่น ภูเก็ต-อุดร

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบิน 54 ลำ ใช้งานอยู่ 47 ลำ คาดว่าในไตรมาส 4/66 น่าจะใช้ได้ครบทั้ง 54 ลำ โดยได้วางแผนสำรองหากมีดีมานด์เข้ามามากจะนำเครื่องในกลุ่มแอร์เอเชียในมาเลเซีย 5-7 ลำ นอกจากนี้บริษัทวางแผนรับมอบเครื่องบินต่อเนื่อง โดยคาดจะรับมอบปีละประมาณ 5 ลำเป็นอย่างน้อยในช่วงปี 67-69 ทำให้ในปี 69 จะมีจำนวนฝูงบิน 72 ลำ

ไทยแอร์เอเชียจะรับเครื่องบินแอร์บัส A321 -XLR ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ ที่สามารถบินได้ไกลกว่าลำเดิม แอร์บัสเอ 320 อีก 1 ชม.เป็น 5 ชม.กว่าที่จะสามารถบินไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น และมีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น 236 ที่นั่งเทียบกับ เอ 320 มีที่นั่ง 180 ที่นั่ง

ด้านราคาตั๋วโดยสาร ขณะนี้ปรับตัวดีกว่าก่อนราว 10-20% ตามดีมานด์ซัพพลาย โดยตั๋วในประเทศราคาเฉลี่ย 1,200-1,300 บาท ส่วนเมืองที่มีการแข่งขันสูงราคาขายก็ลดลงไป และรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 400 กว่าบาท/คน จากก่อนหน้า 280 บาท/คน เนื่องจากมีบินต่างประเทศมากขึ้น โดยครึ่งหนึ่งเป็นการซื้อน้ำหนักขนสัมภาระ

นายไพรัชล์ พรพัฒนนางกูร ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน AAV กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนรายได้จากเส้นทางต่างประเทศขึ้นมาเป็น 50% แล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะสูงขึ้นไปที่ 60% เท่าก่อนโควิด และรายได้จากในประเทศมีสัดส่วน 40% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารจากต่างประเทศ 40% และในประเทศ 60%

ส่วนกำไรหรือขาดทุนสุทธิปีนี้ยังผันผวนขึ้นกับค่าเงินบาท เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินจากค่าเช่าเครื่องบินทั้งหมด จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทอ่อนค่าก็จะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าแข็งค่าก็จะมีกำไรอัตราแลกเปลี่ยน โดยเมื่อไตรมาส 2/66 บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,391 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนทางบัญชี ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 1,013 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/66 มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 563 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 359 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top