ส่งออกอาหารทะเลไทยจ่อรับอานิสงส์ หลังจีนห้ามนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในกรณีที่กรมศุลกากรจีน ระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล (รวมถึงสัตว์ทะเลสด) จากญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 66 เนื่องจากมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาหารทะเลอาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ทำการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกง ที่มีคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากหลายจังหวัดของญี่ปุ่น อาทิ ฟูกูชิมะ โตเกียว ชิบะ โทชิกิ อิบารากิ กุนมะ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ โดยสินค้าที่ถูกห้ามนำเข้า เช่น อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง หรือผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารอื่นๆ รวมถึงเกลือทะเล และสาหร่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลมีความปลอดภัย ได้รับการรับรองจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ การใช้มาตรการดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นค่อนข้างมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมง (HS 03) เป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 26.9% (7 เดือนแรกของปี 66) ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นในสัดส่วนเพียง 2.7% เท่านั้น

ซึ่งการกระจายตัวของแหล่งนำเข้าที่สูง ทำให้จีนมีแหล่งนำเข้าทางเลือกที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนไปแหล่งนำเข้าอื่นๆ เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น อาทิ เอลกวาดอร์ รัสเซีย แคนาดา อินเดีย สหรัฐฯ นอร์เวย์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เปรู ชิลี นิวซีแลนด์ และไทย ฯลฯ ดังนั้น การใช้มาตรการดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อจีน

สำหรับอาหารทะเลที่จีนนิยมนำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ หอยเชลล์ ทูน่า เม่นทะเล ปลากะพง และปลิงทะเล เป็นต้น ในขณะที่ปลาแปรรูป (HS 1604) แหล่งนำเข้าของจีนค่อนข้างกระจุกตัวที่เกาหลีใต้ และไทย สัดส่วน 39.7% และ 34.1% ตามลำดับ โดยญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วน 11.1% เท่านั้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่จีนประกาศระงับการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น เพราะกลัวการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ส่งผลให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารทะเล และได้รับส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยส่วนแบ่งทางการตลาดที่หายไปจากการส่งออกของญี่ปุ่น

สำหรับสินค้าประมงที่อาจจะได้รับอานิสงค์ส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น อาทิ ปลาหมึก และหอยสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง ปลาปรุงแต่งและแปรรูป เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว และการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดีของไทย จะทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปยังตลาดจีนได้

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 66 ไทยส่งออกสินค้าประมง ไปยังจีนแล้วกว่า 221.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ 45.5%) ในขณะที่การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปยังจีน อยู่ที่ 31.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+48.7%)

ในส่วนของผลกระทบต่อไทยในแง่ของการนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นในสัดส่วนไม่มาก จากข้อมูลการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าใน 7 เดือนแรกของปี 66 ไทยนำเข้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น มูลค่า 94.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 63,951 ตัน เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วน 5.3% รองจากอินเดีย ไต้หวัน และจีน และตอนนี้ไม่มีมาตรการห้ามการนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยกระดับติดตามเฝ้าระวังอาหารทะเลก่อนเข้ามาแปรรูปในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งหากพบการปนเปื้อน ภาครัฐจะใช้มาตรการส่งคืน หรือทำลาย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที

ทั้งนี้ เมื่อลงลึกไปในรายสินค้า ไทยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่น อาทิ กลุ่มปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล นำเข้ามูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ (-24.8%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 รองจาก ชิลี นอร์เวย์ และจีน กลุ่มปลาทูน่า นำเข้ามูลค่า 22.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+29.5%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 10 กลุ่มสัตว์น้ำอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ (อาทิ เนื้อปลาซาร์ดีนแช่เย็นจนแข็ง เนื้อปลาแมคเคอเรลแช่เย็นจนแข็ง ปลาแซลมอนแปซิฟิกอื่นๆ แช่เย็นจนแข็ง เนื้อปลาทูน่าครีบยาวแช่เย็นจนแข็ง ปลาหมึกกระดองแช่เย็นจนแข็ง ฯลฯ) นำเข้ามูลค่า 46.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (-32.0%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าประมงของไทย ดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสุขอนามัย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำจะเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงเป็นอันดับ 2 ของโลกได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความกังวลต่อการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลาแซลมอน และปลาเทราต์ภายในประเทศได้เช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top