ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 16 – 17 กันยายน 2566 ณ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยลงพื้นที่ติดตามรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ณ มัสยิดโบราณบาโงยลางา ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมีประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาที่ดินทำการเกษตรที่เป็นเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 2) การส่งเสริมทุเรียนทรายขาวให้เป็นทุเรียนคุณภาพ สร้างอัตลักษณ์ให้กับอำเภอทรายขาว และเป็นจุดขาย 3) ปัญหาประมงพื้นบ้าน และ 4) การเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ปัญหาที่ดินทำการเกษตรที่เป็นเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันดับต้นๆ ใน จ.ปัตตานี โดยได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดแก้ไขพื้นที่ทำกินในเขตตำบลทรายขาว และตำบลใกล้เคียง เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2,000 ครัวเรือน เพราะพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันมีการกำหนดให้เป็นเขตป่าไม้ ก่อนและหลังที่ประชาชนเข้าไปทำประโยชน์ เพื่อปลูกยางพารา ปลูกทุเรียน และที่อยู่อาศัย
โดยในเรื่องนี้ ตนได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยจะหารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ไข เพราะชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำการปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนทรายขาวซึ่งเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ว่าเป็นของประชาชนจริงหรือไม่ ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยาน โดยจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริให้คนอยู่คู่กับป่าไม้ และเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับสิทธิการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผลิตทุเรียนทรายขาวให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับอำเภอทรายขาว และเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยส่งเสริมการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ซึ่งตำบลทรายขาว มีทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ปลูกทุเรียนในปี 2566 ทั้งหมด จำนวน 836.5 ไร่ เกษตรกร จำนวน 497 ครัวเรือน ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 545 ตัน ทั้งนี้ ยังพบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในการป้องกัน รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิต กระทบต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน และสร้างความความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค
สำหรับปัญหาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พบว่า ยังขาดเครื่องมืออุปกรณ์ องค์ความรู้สำหรับใช้ในการดำเนินงานในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย โดยในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยินดีให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้พร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้ง ได้ผลักดันในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ เนื่องจากปัตตานีมีน้ำต้นทุนน้อย จึงมอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดปัตตานี
“วันนี้ผมได้นำทีมครอบครัวกระทรวงเกษตรฯ ลงมาเพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่โดยตรงแล้วจะรีบนำไปแก้ไขและจะรายงานปัญหาทั้งหมดในพื้นที่ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อเดินหน้าทำงานอย่างบูรณาการ ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้กินดี อยู่ดี” รมว.เกษตรฯ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จังหวัดชายแดนใต้, ทุเรียน, ธรรมนัส พรหมเผ่า