นายกฯ ถก AOT เพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน รองรับท่องเที่ยวฟื้น สู่เป้าหมาย 20 ล้านคน/ปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พบปะผู้บริหารการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อร่วมพูดคุยประเด็นการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมด้วย

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังการดำเนินการเตรียมการรองรับการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาปรับอาคารผู้โดยสารเดิม การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ (แต่อยู่ในพื้นที่เดิม) รวมถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ในการแก้ปัญหา capacity หรือความแออัดของผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่ปัจจุบัน ที่แม้จะมีการพัฒนาปรับปรุงสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารแล้ว แต่เพื่อให้มีประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นตามเป้าหมายคือ 20 ล้านคนต่อปี จึงต้องมีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ขึ้น ส่วนการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนนั้น สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่

นายกรัฐมนตรี ย้ำให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) นอกจากดูแลเรื่อง EIA และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ก็ให้ดูแลเยียวยาประชาชนลดผลกระทบด้านเสียงเป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงเยียวยาจิตใจด้วย พร้อมสอบถามถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี จะเกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใดเมื่อ เทียบกับสนามบินปัจจุบันที่ผลกำไรอยู่ที่ 2 พันล้านบาทต่อปี

ซึ่ง AOT รายงานว่า เมื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้วเสร็จ จะสามารถมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในส่วนของระยะเวลาดำเนินการ 7 ปีนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และขอเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ตามเป้าหมายและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ขอให้ AOT และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเกิดความประทับใจและมีความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน หากมีประเด็นการนำเสนอข้อที่เป็นไปในทิศทางอ่อนไหวและไม่ถูกต้อง ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย หรือการใช้ Influencer ต่าง ๆ เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งก็ได้ ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top