SINO ปิดเทรดวันแรก 1.93 บาท ยืนแกร่งเหนือจอง 37.86%

SINO ปิดเทรดวันแรกที่ 1.93 บาท เพิ่มขึ้น 0.53 บาท (+37.86%) มูลค่าซื้อขาย 1,940.88 ล้านบาท จากราคา IPO 1.40 บาท โดยเปิดตลาดที่ 1.60 บาท ราคาสูงสุด 1.97 บาท ราคาต่ำสุด 1.58 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ทั้งทางทะเล (Sea Freight) ทางอากาศ (Air Freight) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operation) โดยให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก (End – to – End Global Logistics) ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าทางทะเล (Sea Freight) เส้นทางไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทย (มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในเส้นทางไทย-สหรัฐอเมริกา) รวมถึงการให้บริการให้เช่าคลังสินค้าที่อำเภอศรีราชาและบางละมุง การให้บริการขนส่งทางบก การให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และบริการอื่น เพื่อสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

มองว่าธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีจำนวนมาก ทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทไทย รวมทั้งมีการแข่งขันด้านราคาด้วย แต่ทั้งนี้การให้บริการที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบการณ์ ประกอบกับต้องเข้าใจถึงกฏระเบียบและข้อบังคับที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น การขนส่งสินค้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องวางเงินประกันกับ Federal Maritime Commission (FMC)

ขณะที่การประกอบธุรกิจขนส่งต่อเนื่องในประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งในการให้บริการที่ครบวงจรและครอบคลุมเส้นทางมากกว่า 100 ประเทศ โดยเชี่ยวชาญการขนส่งในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งเป็นสมาชิกสมาคมและเครือข่ายต่างๆ ทำให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัทยังเป็นพันธมิตรทางการค้ากับบริษัทในลาว ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟลาว-จีน และรถไฟลาว-ไทย ดังนั้นการระดมทุนตามวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานลูกค้าและต่อยอดทางธุรกิจจึงมีความเหมาะสม

รายได้หลักของบริษัทมาจากการขนส่งทางทะเลไปยังโซนอเมริกาเหนือ ขณะที่รายได้จากบริการให้เช่าคลังสินค้าที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2565 ขยายตัวขึ้น ช่วยหนุนรายได้ให้กับบริษัท แม้ว่ารายได้จากการขนส่งทางทะเลลดลงมากใน 1H23 จากการลดลงของค่าระวางเรือและปริมาณการขนส่งที่ลดลง แต่เรามองว่า 2H23 จะขยายตัวได้ จากการตุนสินค้าก่อนช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ รวมทั้งค่าระวางเรือมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะยาวยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อัตรากำไรสุทธิมีแนวโน้มลดลง จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการบริหารและค่าระวางเรือที่ต่ำลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับค่าระวางเรือที่สูงในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่บริษัทสามารถควบคุมอัตรากำขั้นต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารจัดการอัตรากำไรจากการให้บริการรูปแบบตู้ต่างๆ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นได้ในภาวะค่าระวางเรือลดต่ำลง อย่างไรก็ตามมองว่าระยะยาวอัตรากำไรสุทธิของบริษัทจะปรับตัวขึ้น (หากไม่นับกำไรในช่วงปี 64-65 ที่ค่าระวางเรือสูงในช่วงวิกฤตโควิด-19) ตามการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ 1. การร่วมมือกับพันธมิตร 2. ความคืบหน้าการทำสัญญาเป็นตัวแทนในการขายระวางสินค้าให้กับสายการบินผ่านบริษัทย่อย (SNC) 3. เส้นทาง BRI ระหว่าง ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย

ความเสี่ยง 1. ความผันผวนของค่าระวางเรือ 2. ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 3. ความผันผวนของอุปสงค์ตามฤดูกาล จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้น มองว่าราคา IPO ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ PER ของคู่แข่งที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่ 12.6 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top