“หมออ๋อง” แจงรายละเอียดดูงานสิงคโปร์ ยันใช้งบต่ำกว่าที่ตั้งไว้

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงสรุปรายละเอียดโครงการไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ของสภาผู้แทนราษฎรว่า ใช้งบประมาณไป 917,009.51 บาท จากที่ตั้งไว้ 1,493,800 บาท ถือว่าใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 500,000 บาท โดยรายละเอียดการใช้จ่ายหมดไปกับการรับรองใน 2 งานหลัก คือ งานเลี้ยงรับรองนักศึกษาและคนงานไทยในสิงคโปร์ที่ได้เชิญมาหารือกันในสถานทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรับรอง สส.สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ

ในส่วนของการพัฒนาสภาฯ นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ มีระบบที่ต่างกับประเทศไทยมาก โดยประเทศสิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของสภาฯ สูงมาก ซึ่งสภาฯ สิงคโปร์มีขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อยคน แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากให้คุณภาพกับการประชุมสูงมาก

“ประชุมเต็มที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วัน ประชาชนสามารถนั่งในสภาฯ ได้ทั้งวัน เพื่อดูเรื่องการดีเบต การเสนอญัตติ และการตัดสินใจต่างๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นในสภาฯ ชุดนี้ ผมจะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนมาสามารถนั่งดูได้”

นายปดิพัทธ์ กล่าว

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่าไม่สามารถทำ Open Parliament ได้ ถ้ายังไม่มีนโยบายคลาวด์ ข้อมูลที่อยู่ในสำนักประชุม สำนักชวเลข ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ทันสมัยขึ้นได้ เรื่องนี้จะนำเข้าสู่กรรมการ ICT ของรัฐสภา เพราะการลงทุนในระบบคลาวด์ จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของ สส.ทันสมัยที่สุด และสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมากมายของสภาฯ ได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดงานในอีก 3 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก การเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ที่จะทำให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต โดยได้พบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ พบว่าหากประเทศไทยไม่เตรียมโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเป็นไปไม่ได้

“เรายังไม่มีการตกลงกันเรื่องเบ้าชาร์จรถไฟฟ้า ทุกคนอยากมีรถไฟฟ้า แต่ยังไม่ตกลงเรื่องกระบวนการชาร์จ ยังไม่ตกลงกันเรื่องรูปแบบของตัวถัง ที่จะมีการใช้แบตเตอรีของทุกค่ายผู้ผลิต ซึ่งทั้งหมด ต้องใช้มาตรการที่ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายที่เตรียมไว้ก่อน ผู้ประกอบการจึงจะสามารถลงทุน และสามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งส่งให้พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อพิจารณา”

นายปดิพัทธ์ กล่าว

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องปัญหาความท้าทายคนไทยที่ทำงานในระดับโลกอยู่ที่สิงคโปร์ ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม ยังไม่ดึงดูดชาวต่างชาติมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการทางภาษีในการสนับสนุน ปัญหา Open Data ยังมีไม่เพียงพอที่ทำให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยได้

ประเด็นที่สาม เรื่องแรงงานไทยในสิงคโปร์ โดยพบว่า ในขณะที่เราได้ยินการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แรงงานไทยเต็มใจและตั้งใจที่จะอยู่สิงคโปร์ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น และต้องการการสนับสนุนจากการที่แรงงานไทยจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นและมีทักษะมากขึ้น เพื่อทำให้ไทยแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น

นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงข้อครหาในการดูงาน ที่มีภาพการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงการไปดูงานอยู่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของตน ต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน แต่หากไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ก็พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top