กรรมการ BOJ หารือปัจจัยสนับสนุนการยุติใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ โดยระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนก.ย.นั้น กรรมการ BOJ มีการหารือกันในหลากหลายปัจจัยที่จะใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) หรือไม่

รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า กรรรมการรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2567 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสามารถตัดสินได้ว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่ ขณะที่กรรมการอีกคนหนึ่งกล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของ BOJ นั้นเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งหมายความว่า BOJ อาจทำการประเมินว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567 ได้หรือไม่

“ความชัดเจนในการตัดสินใจว่าจะยกเลิกการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อใดนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ BOJ จะต้องสื่อสารกับตลาดอย่างระมัดระวัง” กรรมการ BOJ กล่าว

ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ก.ย. คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า BOJ มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก

ส่วนในการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา BOJ ได้ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาเป็นระยะเวลานาน และถือเป็นการปรับนโยบายครั้งแรกนับตั้งแต่นายคาซูโอะ อุเอดะ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ ในเดือนเม.ย.

นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หลังจากนายอุเอดะให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ว่า BOJ จะมีข้อมูลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอภายในสิ้นปีนี้เพื่อระบุว่า จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top