สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมที่ระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุปสงค์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ภายในปี 2573
ทั้งนี้ การค้าก๊าซ LNG ทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 โดยส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอุปสงค์จากยุโรป เนื่องจากยุโรปหลีกเลี่ยงการพึ่งพาก๊าซ LNG จากรัสเซีย หลังรัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ก๊าซ LNG ของยุโรปมีแนวโน้มจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นายโทนี เรแกน ผู้นำด้านก๊าซประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากเน็คแซนท์อีซีเอ (NexantECA) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านพลังงานและการกลั่น คาดการณ์ว่า อุปสงค์ก๊าซ LNG จากยุโรปจะแตะจุดสูงสุดในปี 2570 ก่อนลดลงในปี 2573
“ผมคิดว่าอุปสงค์ก๊าซ LNG จะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย” นายเรแกนระบุ
นายเรแกนระบุว่า เวียดนามถือเป็นจุดที่สดใสสำหรับตลาดก๊าซ LNG โดยคาดการณ์ว่า อุปสงค์ก๊าซ LNG ในเวียดนามจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นเพราะแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 โดยแผนดังกล่าวกำหนดว่า โรงงานถ่านหินทั้งหมดต้องเปลี่ยนไปทำโรงงานเชื้อเพลิงทางเลือกภายในปี 2593 มิฉะนั้นต้องปิดตัวลง
ศูนย์นโยบายพลังงานโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียระบุว่า เวียดนามถูกมองว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของก๊าซ LNG มานานแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจและประชากรขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยการขยายตัวดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนุนอุปสงค์พลังงานที่สำคัญ
เอสแอนด์พี โกลบอลประมาณการว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะพุ่งขึ้นจาก 3.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 สู่ 7.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573
ส่วนมอร์ดอร์ อินเทลลิเจนซ์ (Mordor Intelligence) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาระบุว่า ตลาดก๊าซ LNG โลกมีแนวโน้มจะเติบโตจาก 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 สู่ 1.0341 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571
“ภายในปี 2576 อุปสงค์ก๊าซ LNG ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มจะแตะ 73 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 12% ของตลาดก๊าซ LNG ทั่วโลก” นายฉง จื้อซิน หัวหน้าฝ่ายตลาดก๊าซและก๊าซ LNG ประจำตลาดเกิดใหม่เอเชียของเอสแอนด์พี โกลบอลระบุ โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวคิดเป็นเกือบ 4 เท่าของอุปสงค์ในปี 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)
Tags: LNG, ก๊าซธรรมชาติ, ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อาเซียน