รมช.คมนาคมเร่งกรมเจ้าท่าเบิกงบค้างท่อปี 66 จัดงบปี 67 กว่า 7.7 พันลบ.พัฒนาท่าเรือร้าง

ภาพ: https://www.thaigov.go.th

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคมกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้มีสถานการณ์น้ำท่วม น้ำเหนือไหลหลาก เรื่องเร่งด่วนตอนนี้คือให้ผู้บริหารกรมเจ้าท่า ดูแลการด้านความปลอดภัยในการเดินเรือ การให้บริการต่างๆ พร้อมกำชับผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสาร ด้วยความระมัดระวัง ให้ลดความเร็วในการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดคลื่นใหญ่กระทบตลิ่งทำให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยซึ่งกรมเจ้าท่ามีเครื่องมือในการตรวจจับระดับน้ำและอัตราความเร็วในการปล่อยน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งจะกำหนดระดับน้ำที่ต้องประกาศให้เรือลดความเร็ว และระดับที่ต้องหยุดการเดินเรือเพื่อความปลอดภัย ซึ่งให้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อ ปี 2566 วงเงิน 1,600 ล้านบาท ซึ่งรักษาการ อธิบดีกรมเจ้าท่า รายงาน ว่า ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ เช่น งานถมทรายชายหาดจอมเทียน และชะอำ และงานเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยพบ ปัญหาอาทิ ไม่มีผู้ยื่นประมูล หรือยื่นประมูลแต่ไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ หรือบางงาน มีการปรับแบบ จึงทำให้ล่าช้า ซึ่งตนได้เร่งรัดให้เร่งรัดการลงนามภายในเดือนธ.ค.2566 หรือไตรมาสที่ 1/2567 โดยปีงบประมาณ 2566 กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณ 4,700 ล้านบาท ขณะนี้ เบิกจ่ายไปได้ 63 % จากเป้าหมาย 100 % คาดว่าจะครบตามเป้าหมายในปลายปี 2566

สำหรับงบประมาณปี 2567 กรมจ้าท่าเสนอที่วงเงิน 7,700 ล้านบาท ซึ่งในการจัดทำงบประมาณ ให้เน้นจัดลำดับความสำคัญโครงการที่มีความจำเป็นตามภารกิจเร่งด่วน ไม่ก่อหนี้ผูกพันมากจนเกินไป และโครงการต้องมีความพร้อมดำเนินการ สามารถเร่งรัดการก่อสร้างไม่ให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายค้างท่อ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและการดูแลความปลอดภัยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยจะนำเรียนรายละเอียดนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยพิจารณาด้วย

สำหรับงบประมาณปี 2567 กรมเจ้าท่าจะเน้นโครงการด้านซ่อมบำรุง พัฒนาท่าเรือที่มีอยู่ให้เกิดการใช้อย่างได้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่างบประมาณที่ลงทุนไป ไม่ให้เป็นท่าเรือร้าง ไม่เน้นการสร้างท่าเรือใหม่ มีงานขุดลอกรักษาร่องน้ำลึก เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ได้เน้น การยกระดับความปลอดภัยของการคมนาคมทางน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านบริการโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ CCTV และการนำ AI มาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น ใช้ระบบ AI ในการตรวจจับระดับเสียงที่รบกวนประชาชน ซึ่งปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยามีเรือภัตตาคารที่เปิดเพลง มีประชาชนร้องเรียนเสียงดัง กรมเจ้าท่าจึงจะออกไปตักเตือนได้ แต่หากมีระบบ AI จะตรวจวัดระดับเสียงและส่งข้อมูลไปให้กรมเจ้าท่าได้รับทราบและดำเนินการเตือนได้ ไม่ต้องให้เกิดปัญหาประชาชนเดือดร้อนก่อน โดยจะได้เสนอของบประมาณ ปี 2567 ประมาณ 80-90 ล้านบาท เริ่มติดตั้ง นำร่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงเส้นทางที่เรือภัตตาคารให้บริการ

 

*พัฒนาแอป GPS Tracking นำร่องเรือด่วนและแสนแสบ-ท่องเที่ยวเจ้าพระยา

 

นางมนพรกล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีศูนย์ควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ที่มีระบบทันสมัย โดยได้ริเริ่มการพัฒนาแอปพลิเคชั่น GPS Tracking เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามค้นหาเรือโดยสาร ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบเส้นทางและระยะเวลาในการเดินทางได้ และจะเชื่อมโยงกับระบบรถโดยสารและราง เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งเสริมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ล้อ-ราง-เรือ ซึ่งได้มีการศึกษาร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำTOR หากการทดสอบมีความชัดเจน กรมเจ้าท่าจะออกประกาศ ติดตั้ง GPS เพื่อเป็นอุปกรณ์เดินเรือเพื่อให้เรือโดยสาร ในแม่น้ำเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ เรือท่องเที่ยว นำร่องในเขตกรุงเทพและปริมณฑลตั้งเป้าเริ่มใช้ได้ในปี 2567

พร้อมทั้งผลักดันการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด การขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการและพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มศักยภาพไปสู่ระดับสากล พร้อมริเริ่มโครงการ “ราชรถยิ้ม” คือ ข้าราชการ พนักงาน และบุคลากร ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทุกคนจะต้องมีรอยยิ้ม และมีความสุขในการทำงาน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับประชาชนและต้องดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรม

 

ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการขนส่งทางนา 11 ด้านได้แก่

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ พัฒนาท่าเรือ เช่น ท่าเรือเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ท่าเรือเกาะกูดซี-ฟร้อนท์ จังหวัดตราด และท่าเรือวงแหวนอันดามัน เชื่อมโยง 3 จังหวัด การบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 16 ร่องน้ำ การเสริมทราย การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และผลักดันสนับสนุนท่าเทียบเรือสำหรับโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย สอดรับกับนโยบาย Free visa ของรัฐบาล

2. การยกระดับความปลอดภัยของการคมนาคมทางน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ CCTV และการนำ AI มาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

3. การส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายส่งเสริมพาณิชยนาวี และพัฒนาหลักสูตรพาณิชยนาวีให้สากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมกองเรือไทยและพัฒนามาตรฐานท่าเรือ อู่เรือ เป็นต้น

4. การส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเรือไฟฟ้า (EV Boat) และก๊าซธรรมชาติในระบบการเดินทางและขนส่งด้วยเรือโดยสาร ส่งเสริมการใช้พลังงานจาก Solar Cell ในอาคารสถานที่

5. การยกระดับการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น IMO, IUU ตลอดจนพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และ JCCCN เป็นต้น

6. การสนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งเสริมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ล้อ-ราง-เรือ พัฒนาแอปพลิเคชั่น GPS Tracking เพิ่มการติดตามค้นหาเรือโดยสาร

7. การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากล

8. การขับเคลื่อนสู่องค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักธรรมาภิบาลรวมถึงพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูง

9. การยกระดับการให้บริการให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงได้ และมุ่งแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ สร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับประชาชนผู้รับบริการ

10. การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชน

11. การดำเนินโครงการ “ราชรถยิ้ม” เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำในทุกมิติ พัฒนาระบบงานบริการให้สะดวกรวดเร็วสร้างความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top