TAN เคาะราคา IPO หุ้นละ 16.50 บาท P/E ที่ 31.16 เท่า เปิดจอง 9-11 ต.ค.

บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น (TAN) เปิดเผยว่า กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 77.5 ล้านหุ้น ที่ราคา 16.50 บาท/หุ้น ระยะเวลาการเสนอขาย IPO ในช่วง 9-11 ต.ค. 66 โดยเสนอขายผ่านบล.กสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และคาดว่าจะสามารถนำหุ้น TAN เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ภายในเดือน ต.ค.66 นี้

การเสนอขายหุ้นสามัญโดยบริษัทกำหนดราคา 16.50 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือน (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/65 ถึงไตรมาสที่ 2/66) ซึ่งเท่ากับ 158.87 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งหมดจำนวน 300 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per Share) เท่ากับ 0.53 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 31.16 เท่า

บริษัทคาดว่าจะได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้รวม 1,233.02 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจ 100-150 ล้านบาท, ให้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถานันการเงิน 991.59 ล้านบาท และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ

TAN ได้ลงนามแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ พร้อมแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญอีก 3 ราย ประกอบด้วย บล.บัวหลวง บล.เอเซีย พลัส และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่าราคาเสนอขายหุ้น TAN มีความเหมาะสม จากความแข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นระดับลักซ์ชัวรี ที่มีศักยภาพการเติบโต จากการขยายพอร์ตธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ และการขยายธุรกิจเพื่อมุ่งเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค

การนำ TAN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ ผ่านการขยายสาขาของแบรนด์ธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสิทธิ์ในปัจจุบัน ปรับโครงสร้างเงินทุนผ่านการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตในระดับภูมิภาค

นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TAN เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นชื่อดังระดับโลก ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนด์สินค้าและบริการระดับลักซ์ชัวรี และได้รับความไว้ใจจากแบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ระดับโลกในการบริหารแบรนด์ เพื่อสร้างความนิยมให้แก่แบรนด์ทั้งในประเทศ และระดับภูมิภาค ผ่านการนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากด้วยคุณภาพ และถ่ายทอดจุดเด่นของแต่ละแบรนด์สู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด Bring The Best of The Brand to The Best of Thailand และวิชั่นที่มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำระดับภูมิภาค

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ มีแบรนด์สินค้าภายใต้พอร์ตโฟลิโอมากถึง 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ Pandora เครื่องประดับเงินชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก Marimekko แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์และสีสันจากประเทศฟินแลนด์ Cath Kidston สินค้าไลฟ์สไตล์กลิ่นอายโมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ รวมถึงนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในประเทศเวียดนาม HARNN ผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา และอโรมาเทอราพี และ Vuddh สินค้าเครื่องหอมสไตล์ไทยร่วมสมัย รวมทั้งมีการขยายไปยังธุรกิจสปาซึ่งประกอบด้วย 4 แบรนด์ย่อยที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีสาขาตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 131 สาขา แบ่งออกเป็นสาขาที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของจำนวน 122 สาขา และสาขารูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 9 สาขา และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

TAN วางเป้าหมายการขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตแบบเกื้อหนุนกัน (Group Brand Synergy) ให้แก่แบรนด์ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำระดับภูมิภาค ผ่าน 5 กลยุทธ์ ดังนี้

1) พัฒนาแพลตฟอร์ม Omni-channel เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และขีดความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งรองรับการเติบโตในอนาคต กลุ่มบริษัทฯ มุ่งประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าแบบไร้ขีดจำกัดผ่านการผสานรวมการซื้อสินค้าทางออนไลน์และการซื้อสินค้าในร้านค้า โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขายที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

2) ขยายช่องทางการจำหน่ายและให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการขยายสาขารูปแบบ Concept Store เพื่อสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ (Brand Experience) และถ่ายทอดเรื่องราวของสินค้า (Story Telling) ในแต่ละ Collection ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และสนามบิน ตามหัวเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับกลางถึงสูง เมืองท่องเที่ยว เป็นต้น

3) เพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) โดยมุ่งเน้นนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่หลากหลาย ออก Collection สินค้าใหม่ๆ และการทำ Visual Merchandising เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดซื้อต่อบิล (Ticket Size) ผ่านการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น Co-Branding กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง นำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการใช้ Influencer Marketing สร้างการรับรู้ของแบรนด์และสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง

4) รักษาคุณภาพของสินค้าและการให้บริการที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ผ่านการให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความประทับใจต่อสินค้าและการบริการของแบรนด์

5) นำเสนอแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่หรือขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอให้แข็งแกร่งโดยการเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ เข้าควบรวมกิจการ หรือจัดตั้งแบรนด์สินค้าใหม่ของกลุ่มบริษัทฯ

นางชิดชนก จังพล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน TAN กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายในปี 63-65 เท่ากับ 911.39 ล้านบาท 764.87 ล้านบาท และ 1,257.50 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 11.33% ต่อปี ขณะที่ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 66 มีรายได้จากการขาย 655.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 71.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะส่งกระทบต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ทำให้ต้องปิดหน้าร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าชั่วคราวตามมาตรการของภาครัฐ รวมถึงการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้รายได้จากการขายผ่านหน้าร้านสาขาในปี 64 ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ในปี 64 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้น 118.78%

ทั้งนี้ จากปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผสานรวมกับความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ และความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top