กทม. ผนึกกำลัง TikTok ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่ Smart City อย่างยั่งยืน

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศจับมือกับ TikTok ร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ผ่านการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคม และสร้างความตระหนักรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดริเริ่ม 3 Smart ที่ครอบคลุมใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านสังคม-การศึกษา (Smart People) และด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เมืองจะน่าอยู่ได้ ด้วยปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ คือ 1. เรื่องคุณภาพของคน หัวใจของเมืองอยู่ที่ “คน” การที่เมืองมีคนดี-คนเก่งอยู่มาก จะช่วยพัฒนาเมืองและพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้ 2. เรื่องเศรษฐกิจ คนในเมืองมีอาชีพ การค้าการขายคล่องตัว ยิ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้เกิดการค้าการลงทุน เกิดบรรยากาศของการเดินทางและการท่องเที่ยวที่คึกคัก และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของเมืองให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 3. เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ และคนในเมืองร่วมแรงร่วมใจกันทำให้เมืองมีความสะอาด สดชื่น สวยงาม ใช้ชีวิตด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ เป็นสิ่งที่ กทม.กำลังขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เราพยายามทำ คือการเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ต้องขอบคุณ TikTok ที่เห็นตรงกันกับเรา ร่วมมือกับเรา และช่วยกันผลักดันให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ในทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ Smart People, Smart Economy และ Smart Environment” นายชัชชาติ กล่าว

พร้อมระบุว่า จาก 3 เสาหลักข้างต้น จะเห็นว่าการเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น มี 2 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรกคือ เราจะทำให้กรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้อย่างไร กทม.อาจจะออกกฎหรือระเบียบต่าง ๆ ได้ แต่การบังคับใช้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นจึงต้องทำให้คนมีความรับผิดชอบมากขึ้น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพที่สามารถสื่อสารกับคนได้ตรงจุด โดย TikTok เป็นสื่อหนึ่งที่มีความเร็ว และสื่อสารได้กับกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาอ่านเนื้อหายาว ๆ และชอบเนื้อหาแบบสรุป

เรื่องที่สอง คือ เศรษฐกิจ ซึ่งมีหัวใจคือการช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม อนาคตโลกจะเปลี่ยนจากยุคของแบรนด์ (Brand Age) มาเป็นยุคของผลิตภัณฑ์ (Product Age) ซึ่งหมายถึงแบรนด์หรือชื่อเสียง ไม่สำคัญเท่าคุณภาพ ลูกค้าไม่ได้เชื่อการโฆษณาเพื่อการสร้างแบรนด์ แต่ลูกค้าเชื่อในคุณภาพสินค้า การรีวิว หรือการบอกต่อ ซึ่ง Product Age จะประสบผลสำเร็จได้จะต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการสื่อสาร ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ผู้ว่าฯ กทม. ยกตัวอย่าง ปัญหาพ่อค้าแม่ค้าโบ๊เบ๊ที่ขายไม่ดีในระยะหลังมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าที่หันมาซื้อของผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ กทม. จะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยการขายสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่โบ๊เบ๊ เพราะเชื่อว่าหากร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้ดี พ่อค้าแม่ค้าจะมียอดขายที่ดีขึ้น ซึ่ง กทม.ก็พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนช่วยโปรโมต ส่วนทาง TikTok เองก็น่าจะเป็นพลังที่จะช่วยสนับสนุนได้เป็นอย่างดีอีกแรงหนึ่งด้วย

นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – Thailand, TikTok กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร กับ TikTok มีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของ TikTok ในการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มที่มอบทั้งความบันเทิงอย่างมีความรับผิดชอบ ปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจ และส่งมอบโอกาสให้กับทุกภาคส่วน เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top