ค่าแรงถูกบวกหนี้สินเป็นเหตุให้แรงงานไทยยอมทำงานพื้นที่เสี่ยงภัยต่างแดนแลกค่าแรงสูง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าแรงถูกไม่เพียงต่อรายจ่ายและการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ บวกกับ ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงผลักดันให้แรงงานไทยทั้งทักษะต่ำและทักษะปานกลางเสี่ยงโชคทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยสงครามแลกค่าแรงสูง เช่น อิสราเอล มีแรงงานเข้าไปทำงานมากกว่า 25,000 คน ไต้หวัน มีแรงงานเข้าไปทำงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน มีความเสี่ยงจะเกิดสงครามเช่นเดียวกัน

การเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมในไทยหรือแรงงานรับจ้างทั่วไป ก่อสร้างทั่วไปได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 328-354 บาท หรือมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 9,840 – 10,620 บาทต่อเดือน สำหรับแรงงานรายวันแล้วจะได้ค่าจ้างเต็มเดือน คือ ต้องมาทำงานทุกวัน หากวันไหนไม่มาทำงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง นอกจากนี้ แรงงานรายวันที่ถูกจ้างผ่านบริษัทเหมาช่วง จะอยู่ในสภาพเป็น “แรงงานเหมาช่วง” ไม่มีสวัสดิการวันลาวันหยุดเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไปของบริษัท เงินเดือนระดับ 10,620 บาทต่อเดือน

เมื่อเทียบกับค่าแรงหรือเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานในอิสราเอลในลักษณะงานเหมือนกันนั้น ค่าจ้างต่างกันประมาณ 5-10 เท่า อิสราเอลได้เงินเดือนขั้นต่ำ 50,000-100,000 บาทต่อเดือน หรือหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่ แรงงานไทยนิยมไปทำงาน เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ย่านตะวันออกลาง ก็จะมีค่าจ้างสูงกว่าในตลาดแรงงานไทยประมาณ 3 -10 เท่าเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกาแล้วยิ่งต่างกันมาก ค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกาจ่ายเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ ทำงาน 8 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างวันละ 120 ดอลลาร์ ตกเดือนละ 3,600 ดอลลาร์หรือ 133,200 บาทต่อเดือน (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 37 บาทต่อดอลลาร์) สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในไทยประมาณ 13.53 เท่า

แนวโน้มแรงงานไทยยังคงอพยพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปต่างแดนจำนวนมากยอมก่อหนี้กู้ยืมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการเพื่อเดินทางไปทำงานในต่างแดนเพื่อแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า จากข้อมูลของทางการพบว่า แรงงานไทยเคลื่อนย้ายไปทำงานมากกว่า 26 ประเทศทั่วโลกในฐานะแรงงานระดับล่างทักษะต่ำจนถึงปานกลาง การเคลื่อนย้ายไปทำงานในระดับบริหาร ระดับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แรงงานส่วนใหญ่ต้องกู้ยืมเงินก้อนใหญ่เพื่อใช้เป็นค่าดำเนินการในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เมื่อไม่สามารถทำงานให้มีรายได้ตามสัญญาจ้างย่อมทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้และไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิมได้ แรงงานจำนวนหนึ่งจึงไม่ยอมย้ายกลับแม้นเสี่ยงภัยต่อชีวิตจากภัยสงครามในอิสราเอล เรื่องนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องพิจารณาดูว่าจะช่วยเหลือทางการเงินหรือช่วยเหลือในหางานทำได้อย่างไร หลังกลับมายังภูมิลำเนา

นอกจากควรพิจารณาว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบหรือมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรเพื่อให้ค่าดำเนินการในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศถูกลง ในเบื้องต้นต้องเปิดให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในบริษัทจัดหางานในต่างประเทศ ลดการผูกขาด ลดการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการขออนุญาตทำงาน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การทยอยปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 328-354 บาท เป็น 600 บาทต่อวันในอีกสี่ปีข้างหน้า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลออกของแรงงานไทยแต่อย่างใด เพราะมีระดับรายได้ที่ต่างกันอย่างชัดเจนและแรงงานก็ดิ้นรนเพื่อต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ประเทศไทยจะสามารถจ่ายค่าจ้างในระดับเดียวกับประเทศไต้หวัน ประเทศอิสราเอลได้ต้องทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่ำปีละ 5-6% และก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วในอีก 15 ปีข้างหน้า (หากประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศโดยไม่สะดุดลงระหว่างทาง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปี) การปรับค่าจ้างต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีพและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวได้

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นต้องมากเพียงพอและอย่างน้อยต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างน้อย 10%

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสมจะบรรเทาปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงมาก ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อมากนัก ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุนการกดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มากและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง ใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำและเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในไทยจะไม่เกิดปัญหาการว่างงานเพราะไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำในหลายอุตสาหกรรมและต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยดึงดูดแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยศักยภาพของเศรษฐกิจและความพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมก็ยังไม่สามารถปรับจ้างให้แข่งขันกับตลาดแรงงานในประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ อิสราเอลหรือแม้นกระทั่งมาเลเซียหรือมาเลเซียได้

การไหลออกของแรงงานไทยยังคงเป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายปีที่ผ่านมาบางพื้นที่ไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเลย และไม่ได้ปรับเพิ่มเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นมาทำงานในเขตเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น เพิ่งจะมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในบางพื้นที่เมื่อปีที่แล้วหลังจากถูกแช่แข็งค่าจ้างมานานหลายปี แรงงานโดยเฉพาะแรงงานอิสระจึงอยู่ในสภาพเดือดร้อนทางการเงินและทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงขั้นต่ำจึงมีลักษณะถดถอยหรือติดลบในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2565 ต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรกของปี 2566 เพราะเงินหรือค่าจ้างเท่าเดิมไม่ได้มีอำนาจซื้อเท่าเดิมเนื่องจากเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างมากแต่แรงกดดันเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งหลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสอาจขยายวงได้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ค่าจ้างของแรงงานที่มีทักษะแห่งอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานในเอเชียเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ และรัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียร์มาร์ ขณะเดียวกันการพัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ ต้องมีการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ AI ยังทำแทนไม่ได้ให้โดดเด่นผ่านระบบการศึกษา ผลิตภาพแรงงานไทยโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity)

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต

นอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษที่แล้วก็เพิ่มน้อยอยู่แล้ว 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ก็ทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน จำนวนไม่น้อยอยู่ในระบบสัญญาจ้างหรือเหมาช่วงที่ไม่มีความมั่นคงในงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นจากกระบวนการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานสูง กระบวนการทำงานที่มีนำเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นอีกด้วย การมีค่าแรงที่สูงกว่ายังสร้างจูงใจและเพิ่มทรัพยากรให้แรงงานไทยในต่างด้าว พัฒนาทักษะของตัวเองให้ก้าวหน้าได้มากขึ้นอีกด้วย

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • ข้อแรก ขอให้รัฐบาลไทยทำการปฏิรูปกฎหมายแรงงานและปรับปรุงสวัสดิการแรงงานพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และควรให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 102 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบประกันสังคม เพื่อรับประกันความครอบคลุมทั่วถึงของระบบประกันสังคม เสริมสร้างโครงสร้างทางกฎหมายและการสนับสนุนทางการเมือง อันเป็นบ่อเกิดของระบบประกันสังคมที่ประสิทธิภาพ ยั่งยืนและตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคม

  • ข้อสอง รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย ขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีแล้ว

รัฐไทยควรยอมรับอนุสัญญา ILO 87/98 สิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน การให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งหากมีองค์กรของแรงงานข้ามชาติหรือสหภาพแรงงานจะทำให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสและค้ามนุษย์ (ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ) ในไทยดีขึ้นด้วย หรือ เปิดโอกาสให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพแรงงานร่วมกันได้ หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกันได้ (อาศัยหลักสามัคคีทุกเชื้อชาติและแรงงานเป็นพี่น้องกันทั่วโลกตามหลักภราดรภาพนิยมและนำมาสู่สันติสุขและความเป็นธรรมในสถานประกอบการ) หรือ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพฯแบบทั่วไปที่สมาชิกไม่สังกัดบริษัท อาชีพ อุตสาหกรรม หากไทยสามารถยกระดับมาตรฐานแรงงานดังกล่าวได้ ย่อมมีโอกาสที่ไทยขึ้นมาอยู่ Tier 1 เกิดผลดีการค้าการลงทุนระยะยาว สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แบ่งปันกันมากขึ้นหากรัฐบาลชุดนี้รับรองอนุสัญญาจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง

  • ข้อสาม ทบทวนและยกเลิกนโยบาย 3 ขอ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะเป็นการทำลายหลักการของระบบประกันสังคมและจะทำให้เกิดปัญหาความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมอย่างแน่นอนโดยเฉพาะกองทุนชราภาพ

  • ข้อสี่ ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 (เกี่ยวกับการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับความเป็นธรรมทางด้านสวัสดิการและการจ้างงาน

  • ข้อห้า ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เฉพาะส่วนที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 27 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

  • ข้อหก ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายให้หนี้ที่เกิดจากเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • ข้อเจ็ด ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ และ

  • ข้อแปด ขอเสนอให้สร้างโอกาสให้หญิงและชาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าวมีงานที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดความสำเร็จโดยจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค ความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  • ข้อเก้า รัฐบาลควรส่งเสริมให้ แรงงานไทยในต่างประเทศได้รวมตัวกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆรวมทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเสนอให้ แรงงานข้ามชาติในไทย สามารถเป็น สมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้ หรือสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานร่วมกับแรงงานไทยได้

  • ข้อสิบ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวมนั้นต้องอาศัยทั้งการยกระดับผลิตภาพของแรงงาน ผลิตภาพของทุน ผลิตภาพจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตภาพของระบบราชการและระบบการเมืองไปพร้อมกัน จะอาศัยแต่ผลิตภาพของแรงงานในระบบการผลิตย่อมไม่เพียงพอ

  • ข้อสิบเอ็ด ยืดการเกษียณของคนทำงานในทุกระบบของไทย อายุเฉลี่ยของประชากรไทยปัจจุบันอยู่ที่ 78 ปี อายุเกษียณของแรงงานในระบบธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคเอกชนไทยอยู่ที่ 55 ปี และ อายุเกษียณของข้าราชการอยู่ที่ 60 ปี ระบบบำนาญต้องจ่ายประมาณ 18-23 ปีซึ่งระบบบำนาญจะประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินในอนาคตอย่างแน่นอน หากไม่ยืดเวลาการเกษียณอายุออกไป นอกจากนี้ยังจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายสาขา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top