เศรษฐกิจไทย – มาเลเซียสั่นคลอน เหตุเงินอ่อนค่าเทียบดอลลาร์

สกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวลดลงเกือบแตะจุดต่ำสุดในปีนี้ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐพุ่งทะยานขึ้น โดยค่าเงินริงกิตของมาเลเซียและเงินบาทของไทยปรับตัวลดลงมากที่สุด ขณะที่ รัฐบาลและกลุ่มธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เงินอ่อนค่ามีต่อเศรษฐกิจประเทศ

ภาวะเงินอ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ส่งออกระดับภูมิภาคก็เผชิญความยากลำบากในการใช้ประโยชน์จากภาวะเงินอ่อนค่าดังกล่าว เนื่องจากเกิดความไม่แน่นอนในตลาดใหญ่ ๆ โดยเฉพาะจีน

แม้โดยทั่วไปแล้วภาวะเงินอ่อนค่าจะสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การอ่อนค่าแบบต่อเนื่องนั้นเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเงินไหลออกนอกประเทศ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้เพิ่มความวิตกกังวลว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น

“การผสมผสานของดอลลาร์อ่อนค่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และราคาน้ำมันแพงขึ้นได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศในอาเซียน” นางชารุ ชณาณา นักกลยุทธ์ตลาดของบริษัทแซกโซ มาร์เก็ตส์ (Saxo Markets) ในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย

ค่าเงินริงกิตและเงินบาทปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลง 6.9% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่ ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียและดอลลาร์ของสิงคโปร์ปรับลดลง 2.1% และ 0.7% ตามลำดับ

รายงานระบุว่า ภาวะเงินอ่อนค่าแบบเป็นวงกว้างนี้เกิดจากการที่เศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นของสหรัฐทำให้นักลงทุนบางส่วนมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐได้ดึงดูดให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และค่าเงินในภูมิภาคดังกล่าวปรับตัวลดลง

นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเทขายเงินบาทคือการขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและความวิตกกังวลเกี่ยวกับวินัยทางการคลังของไทย โดยเฉพาะแผนแจกเงินดิจิทัลให้กับประชาชน ซึ่งประมาณการว่าจะสร้างหนี้สาธารณะก้อนใหม่ให้กับไทยมากถึง 5.6 แสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เงินบาทไทยไม่เพียงแค่อ่อนค่าลงเท่านั้น แต่ยังผันผวนด้วย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับกลุ่มผู้ส่งออก ซึ่งยากที่จะใช้ประโยชน์จากภาวะเงินบาทอ่อนค่า โดยความผันผวนของเงินบาททำให้กลุ่มผู้ส่งออกไม่กล้าที่จะเสนอราคา เนื่องจากกังวลว่าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า รัฐบาลไทยควรพยายามสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาทในกรอบที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top