กทม.-ก.ทรัพยากรฯ เตรียมแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 เดินหน้าป้องกันทุกมิติ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดยกทม. ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 มาตลอดปี โดยร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ และมีแผนดำเนินการทุกวัน 365 วัน มีการเฝ้าระวังแจ้งเตือน Risk map ติดตั้ง sensor เพิ่ม การตรวจควันดำ การให้ความรู้ประชาชน

สำหรับแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต หากค่าฝุ่นตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. จะทำการแจ้งเตือน 3 ครั้ง/วัน การกำจัดต้นตอ โดยห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง วัด/ศาลเจ้า งดจุดธูปเทียน ห้ามเผาในที่โล่ง การป้องกันประชาชน โดยปรับรูปแบบการเรียนของโรงเรียน แจกหน้ากากอนามัย และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต ถ้าค่าฝุ่น 75.1 มคก./ลบ.ม. ก็ต้องมีการดูแลการก่อสร้าง ลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย และเครือข่าย Work From Home

นายชัชชาติ กล่าวว่า ภาวะปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น มีสาเหตุหลักมาจากรถยนต์ แต่พอเข้าสู่ช่วงต้นปี จะเริ่มมีการเผาชีวมวลกลายเป็นว่าส่วนใหญ่จะมาจากการเผาชีวมวล ไม่ว่าจะเป็นอ้อย หรือข้าว โดยเฉพาะฝุ่นข้ามแดน ในอนาคตรัฐบาลคงต้องดูเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กทม.ได้ทำ Risk map คือ การนำข้อมูลจุดเสี่ยงต่างๆ ลงแผนที่ทั้งหมดเช่น โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง อู่พ่นสีรถ และสามารถตรวจสอบได้ว่ามาตรวจเมื่อไร ผลตรวจสอบเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดได้ละเอียดและ realtime มากขึ้น โดยขณะนี้ กทม. มีเซ็นเซอร์ตรวจฝุ่น 722 จุด อนาคตจะเพิ่มเป็น 1,000 จุด และมีการปรับปรุงแอปพลิเคชัน AIR BKK สามารถพยากรณ์ได้ดีขึ้นแม่นยำขึ้น เพราะในบางมิติซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่อย่างน้อยให้ประชาชนเตรียมตัววางแผนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

สำหรับกรณีเผาชีวมวลในกรุงเทพฯ จะมีเขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวา ที่มีการทำเกษตรกรอยู่แล้ว จะเฝ้าระวังภาพถ่ายดาวเทียมตลอด ถ้ามีจุด Hot Spot เกิดขึ้นจะให้เทศกิจเข้าไปดำเนินการที่ต้นตอ การกำจัดต้นตอของฝุ่น ทำการตรวจที่แหล่งกำเนิด โดยจะพยายามไม่ตรวจบนถนน เนื่องจากทำให้เกิดปัญหารถติด แต่รู้ว่ารถที่เข้ามาในกรุงเทพฯ อาทิ รถบรรทุกต้องมีที่มาที่ไป เช่น มาจากแพลนท์ปูน หรือไปไซต์ก่อสร้าง รวมทั้งอู่รถเมล์ ท่าเรือคลองเตย และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อไปตรวจที่ต้นกำเนิดแทน

โดยที่ผ่านมา ได้ทำการตรวจรถยนต์ 135,000 คัน ไม่ผ่าน 2,141 คัน รถที่สภาพทั่วไป 37,000 คัน ไม่ผ่าน 217 คัน รถบรรทุก 92,000 คันไม่ผ่าน 529 คัน นี่คือสิ่งที่ กทม.ทำต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปัญหา ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ส่วนการดูแลป้องกันประชาชนนั้น กทม.มีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่อง ให้กับศูนย์เด็กเล็ก 1,734 เครื่องให้กับโรงเรียนอนุบาล รวมทั้งพัฒนาห้องปลอดฝุ่นร่วมกับกรมอนามัย

“มิติที่สำคัญที่สุดตอนนี้ เป็นเรื่องการจราจร คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการดูแลจราจร การปฏิบัติตามกฎจราจร กรมการขนส่งทางบก เรื่องการควบคุมรถเก่าที่จะเข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น โดยหลังจากนี้จะรับโยบายและรับไปดำเนินการต่อ” นายชัชชาติ กล่าว

ด้านพล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเริ่มทำสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ คือ ขอให้เริ่มควบคุมแหล่งกำเนิด เกือบ 70% มาจากยานพาหนะ ซึ่งกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและตรวจจับรถ โดยเฉพาะรถที่เข้ามาในเขตเมือง ให้ทำการการตรวจสอบสภาพรถยนต์ การตรวจขันวินัยจราจร พื้นที่ก่อสร้าง รณรงค์ให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และรถสาธารณะ การควบคุมโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่นควัน

สำหรับพื้นที่รอบๆ ขอให้กทม. สนับสนุนเกษตรกรให้ช่วยกันไม่เผาตอซัง ฟางข้าว อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน นอกจากดูแลตนเองแล้วต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติงานตามคำแนะนำ คำร้องขอของภาครัฐด้วย รวมทั้งการสื่อสารเชิงรุกต่อเนื่องและบ่อยครั้ง ทั้งช่วงก่อนและระหว่างสถานการณ์ การแจ้งเตือนสถานการณ์ต้องทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top