ผู้ใช้อ่วม! กกพ. คาดแนวโน้มค่า Ft งวดม.ค.-เม.ย.67 ทะลุ 4 บ./หน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าปี 2567 ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาพลังงานโลก โดยเฉพาะราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สูงมากขึ้น แม้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 (เอราวัณ) จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในช่วงเดือน เม.ย.67 ก็ต้องดูว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งหากไม่เป็นตามแผน ก็ต้องนำเข้า LNG มาทดแทน

ขณะที่ปัจจุบัน ราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 17-18 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จะส่งผลรวมต่อต้นทุนค่า Ft ในงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.67) รวมประมาณ 5-10 สตางค์/หน่วย เทียบกับงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.66) ที่ 3.99 บาท/หน่วย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขตามหลักเกณณ์ที่จะคำนวณค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 จะต้องส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อประกาศก่อนวันที่ 1 ธ.ค.66 ดังนั้นจะต้องนำเข้าที่ประชุม กกพ.ในเดือนพ.ย.นี้ ยกเว้นว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีนโยบายเพิ่มเติม เพราะราคาสุดท้ายคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ

“ประเทศไทย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น จากปัญหาวิกฤติโควิด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านมา ราคานำเข้าก๊าซ LNG มีราคาสูงมาก และแม้ว่า LNG ส่วนหนึ่งจะมาจากอ่าวไทยก็ตาม แต่ราคาก็มีการปรับตามปัจจัยต่างๆ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลถึงทั้งค่าน้ำมันที่แพงขึ้น อาจจะไม่มาก แต่ก็มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น 5-10 สตางค์

ส่วนที่ประเทศไทยมีปัญหา คือปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของแหล่งเอราวัณ ที่กำลังการผลิตจะกลับมาตามสัญญา PSC ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันได้หรือไม่ แต่หากไม่เป็นไปตามแผน ก็ต้องนำเข้า LNG มาทดแทน ซึ่งหากราคาไม่แพงก็จะกระเทือนไม่มากนัก และหากสงครามอิสราเอลกับฮามาส บานปลาย ก็จะยิ่งกระทบกับราคาแน่นอน” นายคมกฤช กล่าว

พร้อมระบุว่า กกพ. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อหาค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ซึ่งจากคาดการณ์แนวโน้มต้นทุนอาจจะแพงกว่างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.66) เล็กน้อย ถือเป็นการมองไปข้างหน้า โดยตอนนี้ราคานำเข้า LNG อยู่ที่ประมาณ 17-18 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู อยู่ระหว่างทยอยซื้อเข้ามาเสริม โดยเชื่อว่าแนวโน้มต้นทุนค่าไฟจะแพงกว่างวดปัจจุบันแน่นอน จากปัจจัยราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top