SCB EIC ส่องกำลังซื้อที่อยู่อาศัยเผชิญข้อจำกัด “งบไม่พอ-หนี้เยอะ-ดอกสูง” ฉุดดีมานด์แผ่ว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแนวโน้มสัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคนไทยลดลง จากแรงกดดันหลายด้าน ทั้งราคา ที่ปรับตัวสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยจากข้อมูลในปี 57-65 จำนวนบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวเฉลี่ย 2.6% ต่อปี และกระจายตัวออกไปยังปริมณฑลมากขึ้น สอดคล้องตามแนวโน้มการขยายตัวของความเป็นเมือง โดยขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กลงไปตามการเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยลดลง สะท้อนข้อจำกัดในการครอบครองที่อยู่อาศัย โดยราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาที่ดิน และต้นทุนก่อสร้าง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นแรงกดดันในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา และกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน

ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนค่านิยมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่งบไม่พอเป็นข้อจำกัด โดยที่ผลสำรวจ SCB EIC พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังนิยมการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าการเช่า สะท้อนค่านิยมในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังวางแผนเช่า โดยมีสาเหตุหลักมาจากงบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ค่าเช่าที่พักต่อเดือนเพียงพอสำหรับการผ่อนที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางลงมา โดยส่วนใหญ่มองหาที่พักค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน และรองลงมา 10,001-20,000 บาท/เดือน แต่ยังขาดความพร้อมในการขยับขยายมาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งการมีเงินออมไม่มากเพียงพอสำหรับชำระค่าเงินดาวน์ รวมถึงขาดความมั่นใจทางด้านรายได้ และความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในอนาคต

โดยที่ตัวเลือกในตลาดที่รองรับในกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ผู้ประกอบการอาจหันมาทำการตลาด เพื่อระบายที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมกลุ่มทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเร่งให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมโดยรวมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมือสองต่อรองราคากับผู้ขายได้ ส่งผลให้ราคาทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมมือสอง ยังต่ำกว่าทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมใหม่ค่อนข้างมาก จึงยังเป็นตัวเลือกสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ที่มองหาที่อยู่อาศัยหลังแรก

ขณะเดียวกันภาครัฐอาจพิจารณามาตรการส่งเสริมการครอบครองที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก ลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก นอกจากนี้ อาจผ่อนปรนข้อกำหนด ของมาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 66 ซึ่งอาจต่ออายุออกไป และลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงได้อีก รวมถึงโครงการบ้านล้านหลัง ที่อาจขยายวงเงิน และเพดานการปล่อยสินเชื่อ

โดยมาตรการสนับสนุนของภาครัฐข้างต้นนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังจะส่งผลด้านบวกไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น รับเหมาก่อสร้างภาคเอกชน บริการตกแต่งที่อยู่อาศัย วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมตามมา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top