“นิกร” ห่วงตกม้าตาย! คนออกมาลงประชามติไม่ถึงครึ่ง โยนสภาฯ แก้กม.

นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดเผยภายหลังรับฟังความเห็นตัวแทนนิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ 7 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองว่า ก่อนหน้านี้ได้ให้คำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำมติ ซึ่งเป็นคำถามชุดเดียวกับที่จะให้สมาชิกรัฐสภา ในช่วงเปิดสมัยประชุม ก่อนสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 ช่วงปลายเดือนธันวาคมและจะนำไปสอบถามประชาชน

โดยในคำถามระบุว่า เห็นสมควรจะจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ /ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 ทั้งฉบับ คงหมวด1หมวด2 หรือ เห็นว่าไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีนี้จะถามว่า สมควรจะแก้ไขรายมาตรา หรือไม่ต้องแก้เลย และถามถึงผลกระทบที่เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ ตุลาการและฝ่ายบริหาร มีปัญหาหรือไม่อย่างไร หรือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก ต้นเหตุที่นำไปสู่การแก้ไข หรือให้ระบุความเห็นอื่น รวมถึงคำถามเกี่ยวกับการตั้งส.ส.ร. หรือองค์กรอื่นขึ้นมาแก้ไข

นายนิกร ยังระบุถึง คำถามประชามติจะถามก่อนดำเนินการ ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อสอบถามว่าจะอนุญาตให้ทำหรือไม่ ส่วนการทำครั้งที่ 2 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีส.ส.ร. และหลังการแก้ไขจะต้องถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยจะนำคำถามนี้ไปสอบถามสมาชิกรัฐสภาในสมัยเปิดประชุม

สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ช่วงเช้าที่มีการเชิญนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่จะใช้ในการจัดทำประชามติ ประมาณ 3,250 ล้านบาท ส่วนการทำประชามติด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นนั้น กกต. คาดว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้สอบถาม ว่าหากใช้วิธีการดังกล่าวจะมีความเสถียร หรือถูกแฮกข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.บอกว่าจะเสนอข้อมูลกลับมาอีกครั้ง

ส่วนการจัดทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งอื่นนั้น นายนิกร กล่าวว่า กกต.ระบุว่าจะต้องใช้กฎหมาย 3 ฉบับ และการทำครั้งแรกอาจไม่ทัน ต้องรอจนถึงเดือนพ.ย.67 เพราะต้องรอแก้ไขกฎหมายประชามติก่อน แต่ถ้าเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 น่าจะสามารถทำพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นได้

นายนิกร ยอมรับว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ที่กำหนดว่าหากจะทำประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ 1.ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับ 25 ล้านเสียง และมีโอกาสที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ครบ และ 2.เสียงเห็นชอบต้องเกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่มีหัวคะแนน ไม่มีคนเหนี่ยวนำออกมาใช้สิทธิ์

“การทำประชามติครั้งแรก ประชาชนอาจตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์ เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่การทำประชามติครั้งที่ 2 ที่มีการแก้ไขมาตรา 256 ที่หากตรงกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งจะเกิดขึ้นในต้นปี 2568 อาจเป็นตัวเร่งประชาชนได้ แต่ก็เกรงว่าจะตกม้าตาย ตรงที่ประชาชนออกมาไม่ครบตามเงื่อนไข ดังนั้นประเด็นนี้จึงน่ากังวล” นายนิกร ระบุ

ทั้งนี้ มีข้อสรุปว่า หากมีปัญหาขึ้นจริง อาจต้องแก้ไขกฎหมายประชามติ เกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เห็นชอบ แต่คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ คงไม่รอ แต่จะดำเนินการไปตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน และให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ไปดำเนินการแก้ไข โดยเชื่อว่าการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตราจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งน่าจะทันกัน

โดยคาดว่าการทำประชามติครั้งแรก น่าจะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.67 ซึ่งวันเวลาในการทำประชามติ จะไม่น้อยกว่า 90 วันแล้วไม่เกิน 120 วัน หรือประมาณ 3 เดือนครึ่ง เพราะต้องให้เวลา กกต.ไปดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top