WHART ขยายอาณาจักรเข้าลงทุนคลังสินค้า-รง.เพิ่ม 3 โครงการ 3.57 พันลบ.ดันมูลค่ากองฯ แตะ 5.5 หมื่นลบ.

นายอนุวัฒน์ จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ เรียล เอสเตท แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (กองทรัสต์ WHART) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทรัสต์ WHART เป็นกองทรัสต์ประเภทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 51,000 ล้านบาท และมีโครงการภายใต้กว่าบริหารจัดการ 39 โครงการ หรือพื้นที่ประมาณ 1.74 ล้านตารางเมตร

ในปี 66 กองทรัสต์ WHART ขยายอาณาจักรการเป็นผู้นำกองทรัสต์ประเภทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายหลังจากเพิ่มทุนไม่เกิน 195.90 ล้านหน่วย เพื่อลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 3,566.49 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กองทรัสต์ WHART มีมูลค่าทรัพย์สินรวมแตะ 55,000 ล้านบาท ถือเป็นกองทรัสต์ประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมมากที่สุดในประเทศ โดยมีพื้นที่เช่าภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.89 ล้านตารางเมตร พื้นที่เช่าหลังคา 487,243.29 ตารางเมตร เป็นอาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และอาคารโรงงาน ที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) และแบบสำเร็จรูป (General Warehouse)

สำหรับทรัพย์สินที่กองทรัสต์ WHART จะเข้าลงทุนในครั้งนี้ 3 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 เป็นคลังสินค้า รูปแบบ Built-to-Suit และ General Warehouse พื้นที่เช่า 90,862 ตร.ม.
  2. โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง โปรเจค 1 เป็นคลังสินค้า รูปแบบ General Warehouse พื้นที่เช่า 24,310 ตร.ม
  3. โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ บางนา-ตราด กม.23 โปรเจค 3 เป็นคลังสินค้า และโรงงานแบบ General Warehouse พื้นที่เช่า 27,724 ตร.ม.

“ทั้ง 3 โครงการที่เข้าลงทุน ถือเป็นโครงการที่มีคุณภาพ ตั้งอยู่ในทำเลโลจิกติกส์ที่สำคัญ อย่างบางนา-ตราดและ EEC อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้เช่าที่มาจากกลุ่มธุรกิจที่มีความมั่นคงอย่างกลุ่มผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (Third Party Logistics) และกลุ่มผู้ผลิต (Manufacturer) ซึ่งการได้ผู้เช่าที่ดีในกลุ่มอุตสาหกรรม ส่งผลให้กองทรัสต์ WHART มีการรับรู้รายได้จากการลงทุนที่มั่นคง และสร้างประโยชน์ตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์

ทั้งนี้ การที่กองทรัสต์ WHART มีการขยายขนาดกองทรัสต์จากการลงทุนเพิ่มเติมในทุกปี ส่งผลให้กองทรัสต์ฯ มีความมั่นคงทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะในด้านของทำเลทรัพย์สินที่ลงทุน สัญชาติของผู้เช่า รวมถึงความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจของผู้เช่า (Business Sector) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยทำให้ภาพรวมผลประกอบการของกองทรัสต์ WHART อยู่ในระดับที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง”

ล่าสุดกองทรัสต์ WHART แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/66 รายได้รวมเท่ากับ 840.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.29 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 4.90 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้จากการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมในปี 65 และมีกำไรจากการลงทุนสุทธิ เท่ากับ 644.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.20 ล้านบาท หรือ 2.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสาวิตร ศรีศรันยพงศ์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยทรัสต์ WHART เปิดเผยว่า สถานการณ์ลงทุนปัจจุบันถือว่าเป็นจังหวะและโอกาสในการลงทุนในกองทรัสต์ (REIT) เนื่องจาก ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในกอง REIT

นางสาวจิตติสา เจริญพานิช ผู้บริหารงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยทรัสต์ WHART เปิดเผยว่า ภายหลังจากการเข้าลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมในครั้งนี้ กองทรัสต์ WHART ได้ประมาณการจ่ายประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วยแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์เท่ากับ 0.79 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบประมาณการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67-31 ธ.ค.67 หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายประโยชน์ตอบแทนประมาณ 8.23% (ขึ้นอยู่กับราคาเสนอขายสุดท้าย)

สำหรับการเพิ่มทุนของกองทรัสต์ WHART ครั้งนี้ ผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมมีสิทธิสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1 , 4 และระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 ธ.ค.66 ที่ราคาสูงสุดที่ 9.60 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดจะทำการคืนเงินส่วนต่างราคาให้กับผู้จองซื้อ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน (Sponsor) และผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ว่า WHART เป็นกองทรัสต์ที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงาน โดยปัจจุบันทรัพย์สินที่กองทรัสต์ WHART เข้าลงทุนทั้งหมดจะมี WHA Group เป็นผู้พัฒนาและบริหาร ที่ผ่านมากองทรัสต์ WHART มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีทรัพย์สินภายใต้บริหารจัดการกว่า 1.74 ล้านตารางเมตร สอดคล้องกับนโยบายของ WHA Group ที่ยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลัก ในการนำทรัพย์สินคุณภาพระดับพรีเมี่ยมเข้ากองทรัสต์ WHART ทุกปีต่อเนื่อง

WHA Group ถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาคลังสินค้า และโรงงาน ประเภท Built-to -Suit ซึ่งเป็นอาคารที่มีการออกแบบและพัฒนาตามความต้องการของลูกค้า และ General Warehouse ที่มีมาตรฐานระดับพรีเมี่ยม รวมทั้งยังมีการให้บริการโซลูชั่นครบวงจร ทั้งระบบสาธารณูปโภค แพลตฟอร์มโครงสร้างด้านพลังงาน และระบบดิจิตอล โดยทุกโครงการล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่โลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ มีความต้องการเช่าสูง และเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์หลักของประเทศ ได้แก่ บริเวณถนนบางนา-ตราด บริเวณพื้นที่ที่สอดรับกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นทำเลที่สามารถเชื่อมต่อทั้งตัวเมืองกรุงเทพฯ สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง และถนนสายหลัก ด้านการขนส่งและการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพ ทำเลกรุงเทพตอนเหนือ (วังน้อย-สระบุรี) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือและภาพตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงทำเลจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นพื้นที่หลักสำหรับกระจายสินค้าในโซนกรุงเทพฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำด้านนิคมอุตสาหกรรม-โลจิสติกส์ของประเทศ มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิตมายังประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้ที่ดินอุตสาหกรรมของนักลงทุนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องนโยบายภาครัฐบาลที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนจากทั่วโลก โดยกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่เพิ่มมูลค่าการลงทุนให้กับประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลก

ปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง และยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนให้ครอบคลุมทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศ พร้อมแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อีคอมเมอร์ซ และอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curve ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์แบบครบวงจร โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top